xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ได้ฤกษ์ชง “นายกฯ” 22 พ.ค.ปรับโครงสร้าง บพ.แก้ปมการบิน ICAO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน”เ ร่งสรุปปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน แยก 3 ส่วน ตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ กรมการท่าอากาศยาน ตั้งเป้าชง “บิ๊กตู่” ไม่เกิน 22 พ.ค. เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดตั้ง ส่วนแผนปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง หรือ SSC คาดเสร็จ 10 พ.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กองทัพอากาศ (ทอ.) และสมาคมนักบินมาร่วมให้ความเห็น และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข โดยขณะนี้มีความชัดเจนเรื่องรูปแบบการปรับโครงสร้าง บพ.ในระดับหนึ่งแล้ว โดยได้มอบหมายให้ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม นำความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากที่สุด และประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ค.เพื่อสรุปรายละเอียด โดยคาดว่าจะนำโครงสร้างใหม่เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ในการออกคำสั่งจัดตั้งพร้อมบทเฉพาะกาล ซึ่งประเมินว่าจะใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน และถ่ายโอนบุคลากรอีกประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรส่วนราชการตามขั้นตอนปกติที่ต้องยกร่างกฎหมาย ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ทั้งนี้ จะมีการปรับโครงสร้าง บพ.โดยแยกงานออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1.คณะกรรมการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต (National Search and Rescue) และคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (Accident and Incident investigations) โดยยกระดับจากเดิมที่อยู่ภายใต้สำนักมาตรฐานการบินของ บพ. ขึ้นมาอยู่ในระดับกระทรวง เพื่อแยกดำเนินการที่ชัดเจนเรื่องความเป็นกลาง

กลุ่มที่ 2.งานด้านนโยบาย (Policy) และด้านกำกับดูแล (Regulator) จะจัดตั้งเป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ ทำหน้าที่ในด้านการบริหาร ด้านมาตรฐานการบิน มาตรฐานสนามบินการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) งานด้านความปลอดภัย และด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยเป็นองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วนผู้อำนวยการคนแรกจะมาจากการแต่งตั้งเพื่อความรวดเร็ว จากนั้นจะใช้วิธีสรรหา หลักเกณฑ์เบื้องต้น อายุไม่เกิน 65 ปี วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งจะต้องมีการร่างกฎหมายขึ้นมารองรับ โดยกระทรวงคมนาคม จะเป็นผู้เสนอชื่อคณะกรรมการขอรับจัดสรรงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

กลุ่มที่ 3.ด้านปฎิบัติการ จัดตั้งกรมการท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ดูแลบริหารสนามบินในความรับผิดชอบของ บพ.จำนวน 28 แห่ง โดยยังคงเป็นหน่วยงานราชการ มีอธิบดีเป็นผู้บริหารสูง มีรองอธิบดี 2 คน โดยงานหลักที่รับผิดชอบทั้งด้านการพัฒนาสนามบิน วางแผน ก่อสร้าง บริหาร ดำเนินการเพื่อให้การให้บริการผู้โดยสารได้อย่างมีมาตรฐานปลอดภัย ซึ่งจะมีกองคลัง และรายได้ งานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะเพิ่มเติมในส่วนของงานด้านเทคนิค ด้านสำรวจออกแบบ ระบบให้บริการที่ปลอดภัยทันสมัย และด้านไอที และปรับแก้ชื่อตำแหน่งต่างๆ ให้สอดคล้องต่อเนื้องาน เป็นต้น

“ปลัดกระทรวงฯ จะเป็นหัวหน้าทีมในการแก้ไขรายละเอียด และตรวจการบ้านอีกทีวันที่ 10 พ.ค.เวลา 16.30 น. จะสรุปเสนอนายกฯ ไม่เกิน 22 พ.ค.นี้ เราต้องจัดรูปแบบ การปรับโครงสร้าง ความจำเป็นต่างๆ เพื่อรายงานนายกฯ ให้เข้าใจง่ายที่สุด เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งโดยเร็ว ส่วนประเด็นด้านกฎหมายที่ยังไม่สรุปนั้น ขอเวลาอีก 2 สัปดาห์หลังจากรายงานบทบาทหน้าที่และอัตรากำลังให้นายกฯ รับทราบ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

ส่วนแผนปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) ฉบับใหม่จะเสร็จในวันที่ 10 พ.ค.นี้ โดยจะตรวจสอบว่ามีความสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่ โดยหลักการแก้ไขจะแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน เรื่อง AOL AOC ระยะกลางเป็นเรื่องโครงสร้าง อัตรากำลัง งบประมาณ และด้านเอกสารหรือ Document ส่วนระยะยาว จะเป็นด้านกฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการ 2 ชุดที่จะยกขึ้นมาอยู่ในระดับกระทรวงเป็นกรรมการระดับชาตินั้น มีมติ ครม.ที่ระบุถึงอากาศยาน และเรือที่ประสบภัย ดังนั้น จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยองค์ประกอบการบุคลากรต่างๆ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีค่าตอบแทนตามวิชาชีพ และมีกองเลขาฯดูแล ซึ่งจะใช้ต้นแบบในการจัดตั้งศูนย์ปลอดภัยมาเทียบเคียง ซึ่งจะปรับการทำงานจากเดิมที่สถิติในการสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยานใช้เวลานาน 10-20 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น