ดูเต็มๆ รถไฟฟ้าสีม่วง เทคโนโลยีใหม่ สะดวกทันสมัย “ปลัดคมนาคม-รฟม.-BMCL” พาทัวร์โรงงาน J-TREC ที่เมืองโยโกฮามา เผย 3 ขบวนแรกเสร็จแล้ว พร้อมส่งลงเรือถึงแหลมฉบัง ก.ย.นี้เพื่อเดินหน้าทดสอบระบบความปลอดภัยตามคู่มือ ระบุเปิดทางการ ส.ค. 59 หรือเร็วกว่า... ขึ้นกับวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) จะรับรองมาตรฐานปลอดภัยเมื่อใด
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 58 นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้บริหารบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ได้เดินทางตรวจเยี่ยมโรงงานบริษัท Japan Transport Engineering Company (J-TREC) ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูกระบวนการและขั้นตอนการผลิตขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งล่าสุดผลิตเสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 ขบวน/9 ตู้ และได้เตรียมส่งลงเรือคาดว่าจะถึงท่าเรือแหลมฉบังช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภาพรวมการประกอบและตกแต่งตัวรถเป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นรถรุ่นใหม่ที่จะออกมาให้บริการประชาชนหลังจากประเทศไทยมีรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคลสายแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยรถทั้ง 21 ขบวน/63 ตู้ จะส่งมอบครบภายในเดือน ม.ค. 59 จากนั้นจะใช้เวลา 3 เดือนเพื่อดำเนินการทดสอบระบบ และจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายประมาณเดือน พ.ค. 59 สำหรับขั้นตอนการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าในปีแรกจะมีประชาชนใช้บริการกว่า 100,000 เที่ยวต่อวัน
ส่วนอัตราค่าโดยสาร ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาพิจารณาคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นจะใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า MRT ที่เริ่มประมาณ 16 บาท และจะมีการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้กับสายสีม่วง และครอบคลุมกับ MRT รถไฟฟ้า BTS รวมถึงรถเมล์ คาดว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จต้นปี 59
นายวิทููรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า บริษัทเริ่มทำการฝึกอบรมพนักงานสำหรับให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 ที่ผ่านมา โดยจะมีพนักงานรวมทั้งสิ้นเกือบ 1,000 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถและพนักงานประจำสถานีราว 600-700 คน พนักงานที่ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่อีก 200-300 คน การทดสอบขบวนรถนั้นจะเริ่มทยอยจากรถ 3 ขบวนแรก/9 ตู้แบบแยกในแต่ละระบบ (Individual Test) และเมื่อครบทั้ง 21 ขบวน/23 ตู้ช่วงเดือน ม.ค. 59 จะเป็นการทดสอบร่วมกับระบบอื่น (Integration Test:SIT) ใช้เวลา 3 เดือน (ก.พ.-เม.ย. 59) จากนั้นจะเป็นการทดสอบเสมือนจริง ทดสอบการทำงานของระบบต่างๆ และทดสอบกับผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมทดสอบเป็นการเฉพาะอีก 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 59)
สิ่งที่กำหนดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้เมื่อใดนั้น อยู่ที่การทดสอบในช่วง 3 เดือนหลัง ซึ่งจะมีการทดสอบความพร้อมของระบบและพนักงาน โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยตามคู่มือ ฝึกซ้อมระบบการให้บริการและการซ่อมบำรุง ซึ่งจะมีการฝึกซ้อมการปฏิบัติของพนักงานในเหตุการณ์ต่างๆ หลายร้อยหัวข้อ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม เกิดการจี้ตัวประกัน เป็นต้น พนักงานแต่ละตำแหน่งจะต้องผ่านการฝึกซ้อมให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
ที่สำคัญ การทดสอบทั้งหมดจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจากวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ หรือ ICE (Independent Certification Engineer) ซึ่งเป็นคนกลางที่ รฟม.เป็นผู้ว่าจ้างเข้ามา เป็นรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ดังนั้นจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้เมื่อใดนั้นนอกจากนโยบายแล้วยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย 100%
อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รฟม.ทำสัญญาสัมปทานกับ BMCL รูปแบบ PPP - Gross Cost (จ้างเป็นผู้เดินรถ) โดยโครงสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบรถไฟฟ้า จะเป็นของ รฟม. และ BMCL ได้มอบหมายให้กลุ่มกิจการร่วมค้า มารุเบนิ-โตชิบา (MTJV) เป็นผู้ออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ขบวนรถไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุม ระบบติดต่อสื่อสาร และทดสอบระบบ โดยมีบริษัท J-TREC ผลิตขบวนรถ โดยการออกแบบทั้งหมด รฟม. ในฐานะเจ้าของ จะพิจารณาทั้งความสวยงาม สะดวกสบาย ส่วนการซ่อมบำรุงนั้น BMCL-มารุเบนิ-โตชิบา-JR East ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท JTT หรือ Japan Transportation Technology (Thailand) รับผิดชอบระบบซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ณ สถานีบางใหญ่ ระยะ 10 ปี
ซึ่งการตั้งบริษัทร่วมกันเพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหักับ BMCL ให้สามารถซ่อมบำรุงได้เองในอนาคต โดยทางญี่ปุ่นยินดี และ BMCL มีความพร้อมมากกว่าครั้งเปิดเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล ที่ต้องทำสัญญาให้ทางซีเมนส์เจ้าของระบบรถไฟฟ้าซ่อมบำรุงให้ อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายเฉลิมรัชมงคลมีความแตกต่างกันในเรื่องเทคโนโลยีความทันสมัยและความสะดวกที่ได้รับการพัฒนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น มีระบบ CCTV เป็นเครื่องมือในการช่วยดูแลความปลอดภัย ซึ่งสายเฉลิมรัชมงคลไม่มีเพราะค่าลงทุนแพง เทคโนโลยีเรื่องการส่งต่อข้อมูลและภาพจากรถไปยังศูนย์ควบคุมยังไม่ดีพอ มีระบบแสงสว่างที่ดีโดยใช้หลอด LED มีจอภาพบอกข้อมูลสถานี ใช้อาณัติสัญญาณระบบล่าสุด เรียกว่าระบบทันสมัย มีเทคโนโลยีที่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติงาน และบริการที่ดีขึ้นสำหรับผู้โดยสาร ซึ่งคนไทยรอพิสูจน์ได้ไม่เกิน ส.ค. 59 แน่นอน