นักวิจัยไทยเปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณมหาศาลและยากต่อการกำจัด ให้กลายเป็นแผ่นหินประดับบ้าน เปลี่ยนรายจ่ายจากการกำจัดเป็นรายได้จากการขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ขณะที่ภาคเอกชนตั้งโจทย์แปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความต้องการใช้ในปริมาณมากแทน
ดร.เปรมฤดี กาญจนปิยะ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการอีโคดีไซน์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึงปีละ 40,000 ตัน ยิ่งไทยมีโรงงานแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยิ่งมีขยะเป็นแผงวงจรเสียระหว่างกระบวนผลิตจำนวนมาก
แผงวงจรที่เสียจากกระบวนการผลิตจะถูกส่งไปยังโรงงานซึ่งรับรีไซเคิลแผงวงจรที่ตกคุณภาพ และเหลือผง PCB เป็นของเสีย ผงดังกล่าว ดร.เปรมฤดี อธิบายว่าเป็นชั้นฉนวนที่มีส่วนประกอบเป็นพลาสติก ใยแก้ว และวัสดุกลุ่มเรซิ่น ซึ่งโดยทั่วไปจะนำไปกำจัดด้วยฝั่งกลบหรือเผา แต่นักวิจัยห้องปฏิบัติการอีโคดีไซน์มองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้ม และการกำจัดยังมีต้นทุนมากถึงตันละ 10,000 บาท จึงเกิดแนวคิดเปลี่ยนขยะดังกล่าวเป็นรายได้
ก่อนหน้านี้นักวิจัยห้องปฏิบัติการอีดคดีไซน์ได้ร่วมงานกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อแยกทองแดงออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และพบว่าในขั้นตอนท้ายสุดมีผง PCB เหลือเป็นของเสีย อีกทั้งเมื่อทราบถึงต้นทุนในการกำจัดที่สูงและรู้สึกเสียดายทรัพยากร จึงเป็นที่มาของการนำผงดังกล่าวกลับไปใช้ประโยชน์ โดยนำไปผสมกับโพลีเอสทีลีนหรือ PE ในสัดส่วย 50:50 เพื่อผลิตเป็นแผ่นทดแทนแผ่นหินตกแต่งบ้าน ด้วยการผสมและขึ้นรูปโดยไม่ใช้ความร้อน และให้ลักษณะผิวเหมือนเนื้อทรายด้วยแม่พิมพ์ที่มีผิวขรุขระ
ดร.เปรมฤดี และน.ส.พรนลัท สิงห์รัตนพันธุ์ นักวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการอีโคดีไซน์ ผู้ร่วมพัฒนาแผ่นทดแทนหินธรรมชาติด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากการรีไซเคิลแผงวงจรเผยว่าจากการทดสอบความพิษและทดสอบการรั่วไหลของทองแดงที่เหลือตกค้างประมาณ 0.5 % พบว่ามีความปลอดภัย แต่ราคายังราคาสูงกว่าแผ่นหินธรรมชาติ ทว่า กลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้วัสดุนี้คือผู้ที่ต้องการสร้างอาคารที่ได้รับการรับรองว่าเป็น “อาคารสีเขียว” หรืออาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทว่า เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการโรงงานรีไซเคิลแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มายังทีมวิจัยว่า ต้องการวัสดุก่อสร้างที่มีความต้องการมาก เช่น นำไปผสมซีเมนส์เพื่อผลิตอิฐก่อสร้าง เนื่องจากทางโรงงานต้องการกำจัดของเสียออกให้ได้เร็วที่สุด โดยไม่เน้นเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้ง ซึ่ง ดร.เปรมฤดี และน.ส.พรนลัท กำลังหาแนวทางพัฒนาต่อไป
สำหรับแผ่นทดแทนหินธรรมชาติจากวัสดุเหลือทิ้งในโรงงานรีไซเคิลแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่จะนำเสนอแก่นักลงทุนภายในงาน NSTDA Investor's Day 2015 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเวลา 08.30-17.00 น. วันที่ 2 ก.ย.58 ณ ห้องบอลรูมและรีเซปชันฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจงานดังกล่าวติดตามเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/investorsday