xs
xsm
sm
md
lg

สายเรือต่างชาติติงประมูลไอซีดีลาดกระบัง “ประจิน” ยันพร้อมส่ง คตร.ตรวจสอบโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” ยันประมูลไอซีดีลาดกระบังเป็นธรรม โปร่งใส เผยสายเดินเรือ Maersk ของเดนมาร์ก เข้าพบติงเลือกรายเดียวบริหาร 6 สถานี หวั่นได้เอกชนไม่มีคุณภาพ ชี้ขายซองถึง 14 ส.ค. หากมีร้องเรียนพร้อมส่งเรื่องให้ คตร.ตรวจสอบ ด้าน ร.ฟ.ท.เผยเลือกผู้เสนอเก็บค่าบริการต่ำสุดเพื่อจูงใจใช้ขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น ย้ำไม่ปิดกั้น 6 รายเดิมรวมกลุ่มเข้าประมูลได้ ด้าน “บอมบาร์ดิเอร์” พบประจิน โชว์ระบบโมโนเรล หวังร่วมชิงรถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพู

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (6 ก.ค.) H.E. Mr. Mikael Hemniti Winther เอกอัครราชทูตอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชา พร้อมด้วยผู้บริหาร Maersk Group ได้เข้าพบเพื่อหารือถึงโครงการประกวดราคาเพื่อสรรหาเอกชนรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขในร่างทีโออาร์ที่กำหนดให้เป็นผู้ประกอบการรายเดียวบริหาร 6 สถานีนั้นอาจจะทำให้ได้ผู้ประกอบการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะหากเป็นรายเล็กๆ รวมตัวกันและให้บริการที่ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการไม่พอใจ ขณะที่ Maersk Group นั้นนอกจากเป็นผู้บริหารสายเดินเรือแล้ว ยังเป็นผู้ให้ดำเนินงานบริหารสถานีขนส่งสินค้า หรือไอซีดี ลาดกระบัง 1 ใน 6 รายเดิมอีกด้วย โดยระบุว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินงานในกิจการนี้ในประเทศไทย 20 ปี และอยู่ในธุรกิจนี้มาเป็น 100 ปี

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ประกาศขายซองประกวดราคาไอซีดี ลาดกระบังไปแล้ว และจะสิ้นสุดขายซองในวันที่ 14 ส.ค. 2558 ดังนั้น ในระหว่างนี้จะต้องดำเนินการประกวดราคาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ซึ่งหากมีประเด็นร้องเรียนใดที่มีมูลสามารถนำมาพิจารณา และส่งเรื่องให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ช่วยพิจารณาตรวจสอบได้ หาก คตร.เห็นว่าไม่มีประเด็นที่ต้องแก้ไขจะเดินหน้าประกวดราคาต่อไป หรือให้ทบทวน ร.ฟ.ท.จะนำข้อมูลที่มีการร้องเรียน เสนอแนะมาปรับปรุง

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.แจ้งว่า การสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการไอซีดี ที่ลาดกระบัง ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยเงื่อนไขในทีโออาร์กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลรายใหญ่ หรือกิจการร่วมค้า เพียงรายเดียวเข้าบริหารทั้ง 6 สถานี และข้อเสนอด้านราคา จะตัดสินเลือกรายที่เสนอค่าบริการต่ำที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ใช้รางในการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกไว้แล้ว โดยเอกชนจะรับผิดชอบลงทุน เครื่องมือให้บริการต่างๆ และค่าบำรุงรักษาถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีสภาพสมบูรณ์เท่านั้น

ส่วนผลตอบแทนภาครัฐนั้นกำหนดเป็นอัตราคงที่ โดยปีที่ 1-5 ที่อัตรา 67 บาทต่อตารางเมตร และปรับทุกๆ 5 ปี ในอัตราคงที่ จนครบอายุสัมปทาน 20 ปี ซึ่งมีผลดีคือ เอกชนจะมีต้นทุนที่ชัดเจนและกำหนดค่าบริการที่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้มีหัวจักรเพิ่ม 8 คันสำหรับการขนส่งเส้นทางลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง และในอนาคต ร.ฟ.ท.จะมีการจัดหาแคร่สินค้าอีก 308 คัน และโครงการศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เกิดขึ้น ซึ่งล้วนจะสนับสนุนให้การขนส่งทางรางมีความสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทีโออาร์เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายเดิมรวมตัวกันเข้ามายื่นข้อเสนอได้ ไม่ได้ปิดกั้นแต่อย่างใด เป็นธรรมต่อเอกชนทุกราย โดยขณะนี้บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) และบริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS) ซึ่งอยู่ในเครือสายเดินเรือ Maersk Group ได้ซื้อซองประมูลไปแล้ว

สำหรับผู้ประกอบการที่บริหารไอซีดีเดิม ประกอบด้วย สถานี A บริษัท สยามเซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด สถานี B บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด สถานี C บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด สถานี D บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด สถานี E บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด สถานี F บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด

บอมบาร์ดิเอร์ พบประจิน โชว์ระบบโมโนเรล หวังร่วมชิงรถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพู

และในวันเดียวกันผู้แทนจากบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ประเทศฝรั่งเศส เข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม โดยบอมบาร์ดิเอร์แสดงความสนใจในการร่วมลงทุนด้านงานรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว หรือระบบโมโนเรลในกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง และโครงการระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover : APM) เชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ได้แสดงความชัดเจนว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินโครงการเหล่านี้แน่นอน และพร้อมเปิดกว้างทางการประกวดราคา
กำลังโหลดความคิดเห็น