xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวเซ็น MOC ญี่ปุ่นพัฒนารถไฟสองเส้นทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) สร้างไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และปรับปรุงเส้นทางกาญจนบุรี-อรัญฯ “ประจิน” ชี้หลังเซ็น MOC ต้องเร่งตั้ง กก.ร่วมสองฝ่ายกำหนดรูปแบบร่วมทุน และระยะเวลาทำงานชัดใน 1 เดือน เผยญี่ปุ่นพร้อมหนุนไฮสปีดเส้นทางพัทยา และหัวหิน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ค. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC : Memorandum of Cooperation) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น โดย รมว.คมนาคมจะเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปลงนามในวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากลงนามใน MOC แล้วจะเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมในระดับรัฐมนตรีสองฝ่ายเพื่อเจรจา กำหนดเรื่องของรูปแบบความร่วมมือ รูปแบบการลงทุน และกรอบเวลาที่ชัดเจนให้ได้ภายใน 1 เดือน หรือในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยเบื้องต้นน่าจะเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่วนจะเป็นการลงทุนรูปแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) หรือ Public Private Partnership : PPP จะต้องหารือกันต่อไป รวมถึงการจัดทีมงานเข้ามาสำรวจ เป็นต้น

ทั้งนี้ ร่าง MOC พัฒนาระบบรถไฟระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น มีสาระสำคัญ 10 ข้อ คือ 1. ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม. โดยใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองด้านมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก และจะร่วมกันพิจารณารูปแบบการลงทุนและความช่วยเหลือด้านการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้ความร่วมมือระยะแรกของการลงทุนบรรลุผล รวมทั้งจะร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ การออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการในรูปแบบของการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

2. การพัฒนาระบบรางเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ และให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถและการปรับปรุงการให้บริการทางรางในเรื่องต่างๆ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า การปรับปรุงรางและโครงสร้างราง การยกระดับขบวนรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณ ทั้งนี้ กระทรวงที่ดินฯ ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) จะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบรายละเอียดโดยเร็ว เพื่อหารูปแบบความร่วมมือที่เหมาะสมที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีให้การสนับสนุนโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนการพัฒนาด้านนิติบุคคลเฉพาะกิจสำหรับความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อได้รับทราบวงเงินโครงการแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงที่ดินฯ จะพิจารณาทบทวนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนโครงข่ายเส้นทางรถไฟในภาคตะวันออกที่มีความเหมาะสมด้วย

3. ฝ่ายญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือฝ่ายไทยในการศึกษาความเป็นไปได้ และการศึกษารูปแบบการลงทุนในอนาคตของเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร (East-West Corridor) ระยะทาง 718 กม. 4. ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และจะเริ่มดำเนินการโครงการนำร่องในต้นปี 2559 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางของไทย 5. มีความร่วมมือในโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยไทยขอให้ทางญี่ปุ่นพิจารณางานสัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ให้อยู่ภายใต้กรอบราคากลางที่มีการปรับปรุงใหม่ที่ 30,500 ล้านบาท เนื่องจากหากเกินกรอบวงเงินจะทำให้ไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ โดยขณะนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เสนอราคาอยู่ที่เกือบ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะได้นำระบบเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาใช้

6. ไทยรับทราบข้อเสนอของญี่ปุ่นที่พร้อมให้การสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งไทยยังยืนยันที่จะให้เอกชนไทยเป็นผู้ลงทุน 7. ญี่ปุ่นจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ เช่น การฝึกอบรม และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญในสาขาโยธา วิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม ระบบอาณัติสัญญาณ และการควบคุมการดำเนินงาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบรางที่เหมาะสมเพื่อยกระดับโครงข่ายรางในประเทศไทย

8. ตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมระดับรัฐมนตรี 9. กรอบระยะเวลาการดำเนินการ 10. การดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทั้งสองประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น