ร.ฟ.ท.ปรับราคากลางสายสีแดงสัญญา 3 เหลือ 3.05 หมื่นล้านตามมติครม. “ออมสิน” สั่ง “ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.” เรียก “กลุ่มมิตซูบิชิ” เจรจาต่อรอง หลังผลเจรจาล่าสุดเอกชนลดมาอยู่ที่เกือบ 3.3 หมื่นล้าน ขณะที่เตรียมประกาศ TOR ประมูลทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ต้น มิ.ย.นี้
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ว่า ล่าสุดบอร์ดได้มีมติเห็นชอบราคากลางที่ปรับปรุงใหม่เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยราคากลางใหม่อยู่ที่ 30,500 ล้านบาท ลดลงจากราคากลางเดิม 27,926 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เร่งกระบวนการเจรจาต่อรองกับกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เจรจาต่อรองราคาลงมาต่ำกว่า 3.3 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยให้พยายามเจรจาปรับลดราคาลงมาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหากราคาสุดท้ายยังสูงกว่าราคากลางที่ปรับใหม่จะต้องมีเหตุผลที่ยอมรับได้ เนื่องจากจะต้องเสนอขอปรับไปที่กระทรวงคมนาคมและ ครม.อีกครั้งเพื่อขอปรับเพิ่มวงเงินโครงการ
“การปรับราคากลางใหม่เป็นไปตามมติ ครม.ที่ระบุว่า โครงการใดที่เปิดข้อเสนอราคาก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจะต้องปรับปรุงราคากลางใหม่ให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โดยก่อนหน้านี้รถไฟสีแดงสัญญา 3 ติดปัญหาหลายเรื่อง ยังมามีประเด็นปรับราคากลางใหม่อีกยิ่งทำให้ล่าช้า ผมจะติดตามเรื่องนี้ในการประชุมบอร์ดรถไฟวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ว่าหลังจากบอร์ดเห็นชอบราคากลางใหม่ไปแล้วรถไฟได้ดำเนินการงานไปถึงไหน เรียกเอกชนมาเจรจาแล้วเป็นอย่างไร” นายออมสินกล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาท ซึ่งได้มีการปรับราคากลางใหม่หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง.) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ร.ฟ.ท.คำนวณราคากลางผิดไป 4 รายการนั้น นายออมสินกล่าวว่า คาดว่าจะประกาศร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ได้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.เร่งรัดการประกวดราคาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
โดยผู้รับเหมาที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเตรียมเสนอแข่งราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) มี 6 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5. บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด