xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.โล่ง “ทางคู่คลองสิบเก้า-แก่งคอย” ไม่ขัดระเบียบ เล็งเคาะอี-ออกชัน ก.พ. 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เตรียมเดินหน้าประมูลรถไฟทางคู่ (ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) 1.13 หมื่นล้าน หลังกรมบัญชีกลางยันรวมค่าเครื่องจักรกับค่าก่อสร้างไม่ขัดระเบียบ แต่ให้แจกแจงรายละเอียดที่มาให้ชัด คลายปมปัญหา TOR ร.ฟ.ท.เตรียมชี้แจง สตง. และ คตร. คาดเปิดเคาะราคาได้ ก.พ. 58

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการ ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาทว่า ล่าสุดทางกรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพอ.)ได้ตอบข้อหารือเรื่องการรวมค่าใช้จ่ายเครื่องจักรไว้กับค่างานก่อสร้างมายัง ร.ฟ.ท.แล้วว่า ตามระเบียบกรมบัญชีกลางไม่มีกำหนดในเรื่องดังกล่าว แต่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ โดยให้ ร.ฟ.ท.อธิบายรายละเอียดที่มาของราคากลางในส่วนของค่าใช้จ่ายเครื่องจักรให้ชัดเจนเพื่อความรอบคอบ

โดยหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งดำเนินการตามความเห็นของกรมบัญชีกลางและทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้มีข้อท้วงติงในประเด็นเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ที่ ร.ฟ.ท.กำหนดให้รวมค่าใช้จ่ายเครื่องจักรไว้กับค่างานก่อสร้าง โดย สตง.เห็นว่าไม่มีระเบียบกำหนดไว้ให้นำค่าเครื่องจักรมารวมกับค่าก่อสร้าง โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจะทำหนังสือถึงคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อแจ้งว่าจะมีการเดินหน้าประกวดราคาตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2558 จะดำเนินการตามขั้นตอนแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้ยื่นแข่งขันราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และเคาะราคาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

“กรมบัญชีกลางตอบมาค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ผิด ทำได้ แต่ให้แจกแจงรายละเอียดวิธีคิดราคาเครื่องจักร เพราะในระเบียบกรมบัญชีกลางไม่กำหนดไว้ ดังนั้นรถไฟก็ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าคิดราคาต่อหน่วยมาได้อย่างไร แล้วก็ชี้แจงไปยัง สตง.ที่ทักท้วงประเด็นนี้มา แต่หากกรมบัญชีกลางตอบว่าผิดจะกระทบและทำให้โครงการล่าช้า เพราะต้องเสียเวลาในการประกวดราคาใหม่ และอาจจะกระทบต่อราคากลางที่ต้องปรับเปลี่ยนตามเวลาที่เปลี่ยนไปอีกด้วย แต่เมื่อไม่ผิดระเบียบสามารถเดินหน้าได้ทันที” นายประเสริฐกล่าว

โดยผู้รับเหมาที่ยื่นประกวดราคามีทั้งสิ้น 6 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5. บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับบริษัทไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

ส่วนการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาทนั้น นายประเสริฐกล่าวว่า คณะกรรมการประกวดราคาอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เพื่อปรับตัวเลขค่าก่อสร้างลงจากที่เสนอมา 49,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ทางเอกชนกำลังหารือกับพาร์ตเนอร์ และซัปพลายเออร์ ซึ่งคาดจะทราบความชัดเจนว่าเอกชนจะรับกรอบราคาที่ต่อรองกันไว้ได้หรือไม่ก่อนวันที่ 25 ธันวาคมนี้ โดยหากราคาสุดท้ายเกินกรอบที่ได้รับอนุมัติไม่มากและมีที่มาที่ไปสามารถอธิบายได้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอปรับเพิ่มต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น