xs
xsm
sm
md
lg

คตร.เปิดประเด็นเพิ่ม เลื่อนเคาะราคารถไฟฉะเชิงเทรา-แก่งคอยไร้กำหนด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เลื่อนเคาะราคา e-Auction รถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 1.1 หมื่นล้านไร้กำหนด “ออมสิน” เผย คตร.ตั้งประเด็นเพิ่มเติมเรื่อยๆ ล่าสุดให้แยกงานจัดหารถซ่อมทางเอง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ทำไม่ได้เพราะต้องรื้อ TOR ใหม่ หวั่นถูกผู้รับเหมาฟ้องยิ่งทำให้ล่าช้าไปกันใหญ่ ส่วนสีแดง สัญญา 3 (งานระบบ) 2.79 หมื่นล้าน ไล่บีบผู้รับเหมาหั่นราคายังไม่จบ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ยังไม่สามารถดำเนินการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 1 : งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาทได้ เนื่องจากล่าสุดทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ส่งหนังสือถึง ร.ฟ.ท.แจ้งประเด็นเพิ่มเติม โดยต้องการให้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงรายการจัดหาเครื่องมือซ่อมบำรุง โดยให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการจัดหารถซ่อมบำรุงทางเอง จากข้อกำหนดเดิมในร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ที่ให้ผู้รับงานรับผิดชอบจัดหา ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยัง คตร.แล้วว่าไม่สามารถดำเนินการตามข้อแนะนำดังกล่าวได้ เนื่องจากจะต้องทำ TOR ใหม่ ซึ่งเท่ากับต้องกลับไปเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาใหม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้โครงการมีความล่าช้ามากขึ้น

“ขณะนี้ทาง คตร.ยังไม่มีคำตอบใดๆ กลับมายัง ร.ฟ.ท. จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่งประเด็นที่ คตร.ตั้งข้อสังเกตให้แยกการจัดหารถซ่อมบำรุงทางเอง ร.ฟ.ท.ได้ชี้แจงไปยัง คตร.แล้วว่า ตามปกติเรื่องดังกล่าวผู้รับงานต้องเป็นคนจัดหาอยู่แล้ว การปรับเงื่อนไขนี้จะต้องแก้ TOR และเปิดประกวดราคาใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกเอกชนที่เตรียมเคาะราคา e-Auction แข่งขันฟ้องร้องได้ ตอนนี้จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเคาะราคากันได้เมื่อใด หลังจากต้องเลื่อนกำหนดมาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2557” นายออมสินกล่าว

ทั้งนี้ ผู้รับเหมาคุณสมบัติในการประกวดราคา e-Auction โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ 1 มีทั้งหมด 6 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5. บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

ส่วนความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาทนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และบริษัท Sumitomo Corporation) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 49,000 ล้านบาท ยอมปรับลดราคามาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งยังสูงกว่ากรอบวงเงิน โดย ร.ฟ.ท.ยังต้องเจรจาเพื่อต่อรองให้ปรับลดลงอีก แม้ว่ากรอบ 27,926 ล้านบาทเป็นราคาที่ประเมินไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วอาจจะไม่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างในปัจจุบัน แต่หากจะต้องปรับสูงขึ้นบ้างแต่ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและยอมรับได้

“การเจรจาต่อรองเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประกวดราคาฯ ซึ่งขณะนี้ต้องยึดกรอบที่ 27,926 ล้านบาท แต่ที่สุดหากต้องปรับขึ้นบ้างก็ขึ้นกับความเหมาะสม และในกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติจะมีค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ซึ่งต้องรอให้การเจรจาสรุปชัดเจนก่อน ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะต้อบงปรับกรอบวงเงินหรือไม่” นายออมสินกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น