xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนเคาะราคาทางคู่ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ร.ฟ.ท.เลื่อนเคาะราคา e-Auction รถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา -คลองสิบเก้า - แก่งคอย 1.1 หมื่นล.ไร้กำหนด”ออมสิน” เผย คตร.ตั้งประเด็นเพิ่มเติมเรื่อยๆ ล่าสุดให้แยกงานจัดหารถซ่อมทางเอง ซึ่งร.ฟ.ท.ทำไม่ได้ เพราะต้องรื้อ TOR ใหม่ หวั่นถูกผู้รับเหมาฟ้อง ยิ่งทำให้ล่าช้าไปกันใหญ่ ส่วนสีแดง สัญญา 3 (งานระบบ) 2.79 หมื่นล. ไล่บีบผู้รีบเหมาหั่นราคายังไม่จบ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ยังไม่สามารถดำเนินการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Auction)โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 1 : งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา -คลองสิบเก้า - แก่งคอย และช่วงบุใหญ่ - แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35ล้านบาทได้เนื่องจาก ล่าสุดทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ส่งหนังสือถึงร.ฟ.ท.แจ้งประเด็นเพิ่มเติม โดยต้องการให้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงรายการจัดหาเครื่องมือซ่อมบำรุง โดยให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการจัดหารถซ่อมบำรุงทางเอง จากข้อกำหนดเดิมในร่างเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR)ที่ให้ผู้รับงานรับผิดชอบ จัดหา ซึ่งร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังคตร.แล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการตามข้อแนะนำดังกล่าวได้ เนื่องจาก จะต้องทำ TOR ใหม่ ซึ่งเท่ากับต้องกลับไปเริ่มขั้นตอนการประกวดราใหม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้โครงการมีความล่าช้ามากขึ้น

“ขณะนี้ ทางคตร.ยังไม่มีคำตอบใดๆ กลับมายัง ร.ฟ.ท. จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่งประเด็นที่ คตร.ตั้งข้อสังเกต ให้แยกการจัดหารถซ่อมบำรุงทางเอง ร.ฟ.ท.ได้ ชี้แจงไปยังคตร.แล้วว่า ตามปกติเรื่องดังกล่าวผู้รับงานต้องเป็นคนจัดหาอยู่แล้ว การปรับเงื่อนไนนี้จะต้องแก้ TOR และเปิดประกวดราคาใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกเอกชนที่เตรียมเคาะราคา e-Auctionแข่งขันฟ้องร้องได้ ตอนนี้ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเคาะราคากันได้เมื่อใด หลังจากต้องเลื่อนกำหนดมาตั้งแต่วันที่ 23มิถุนายน 2557”นายออมสินกล่าว

ทั้งนี้ ผู้รับเหมาคุณสมบัติในการประกวดราคา e-Auction โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ 1 มีทั้งหมด 6 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5.บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6.บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

ส่วนความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วง บางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาทนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่49,000 ล้านบาท ยอมปรับลดราคามาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งยังสูงกว่ากรอบวงเงินโดยร.ฟ.ท.ยังต้องเจรจาเพื่อต่อรองให้ปรับลดลงอีก แม้ว่ากรอบ 27,926 ล้านบาท เป็นราคาที่ประเมินไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาจจะไม่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างในปัจจุบัน แต่หากจะต้องปรับสูงขึ้นบ้างแต่ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและยอมรับได้

“การเจรจาต่อรองเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประกวดราคาฯ ซึ่งขณะนี้ต้องยึดกรอบที่ 27,926 ล้านบาท แต่ที่สุดหากต้องปรับขึ้นบ้างก็ขึ้นกับความเหมาะสม และในกรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติจะมีค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ซึ่งต้องรอให้การเจรจาสรุปชัดเจนก่อน ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า จะต้อบงปรับกรอบวงเงินหรือไม่” นายออมสิน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น