“ประจิน” เผย สตง.ติง TOR ประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) 1.13 หมื่นล้าน หวั่นขัดระเบียบพัสดุ ชี้เงื่อนไขรวมค่าเครื่องจักรกับค่าก่อสร้างไม่มีในระเบียบ เร่งหารือกรมบัญชีกลางชี้ขาด ขีดเส้นเคาะราคา e-Auction ธ.ค.นี้ เหตุประมูลยืดเยื้อตั้งแต่ปี 54 ส่วนสายสีแดงสัญญา 3 จ่อขอ ครม.ขยับเพิ่มกรอบวงเงินจาก 2.7หมื่นล้าน หวั่นล้มประมูลเปิดใหม่ยิ่งล่าช้า
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาทว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้ยื่นแข่งขันราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ได้ เนื่องจากยังมีข้อท้วงติงจากทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ประเด็นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดให้รวมค่าใช้จ่ายเครื่องจักรไว้กับค่างานก่อสร้าง โดย สตง.เห็นว่าไม่มีระเบียบกำหนดไว้ให้นำค่าเครื่องจักรมารวมกับค่าก่อสร้าง โดยทาง ร.ฟ.ท.จะต้องทำเรื่องหารือไปที่กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพอ.) เพื่อขอความเห็นในประเด็นที่ สตง.ทักท้วงมา ว่า เงื่อนไขที่ ร.ฟ.ท.กำหนดดังกล่าวชอบด้วยระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ หากทางกรมบัญชีกลางเห็นว่าเงื่อนไขชอบด้วยกฎหมายแล้ว ร.ฟ.ท.ก็จะส่งหนังสือยืนยันไปยัง สตง. แต่หากไม่ถูกต้องตามระเบียบและกรมบัญชีกลางมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือข้อเสนอแนะอย่างไร ทาง ร.ฟ.ท.ก็พร้อมดำเนินการตาม ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงประเด็นเดียว หากได้รับการยืนยันอย่างไรก็เชื่อว่าจะเดินหน้าได้
ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้ส่งหนังสือไปยังกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะติดตามผลการพิจารณาอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปและเปิดให้ผู้รับเหมายื่นแข่งขันราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ประมาณเดือนธันวาคมนี้
โดยผู้รับเหมาที่ยื่นประกวดราคามีทั้งสิ้น 6 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5. บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท
ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด
ส่วนการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาทนั้น นายออมสินกล่าวว่า คณะกรรมการประกวดราคาจะเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) มาเจรจาปรับลดราคาในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตัวเลขค่าก่อสร้างมีสัญญาณที่ดีในการปรับลดลง จากที่เสนอมา 49,000 ล้านบาทมาอยู่ในระดับ 3-3.5 หมื่นล้านบาท แต่ยังสูงกว่ากรอบวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการชี้แจงถึงข้อเท็จจริงราคาที่เพิ่มขึ้น มีเหตุผลรองรับหากต้องมีการเสนอขออนุมัติปรับกรอบวงเงิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีกว่าการยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ เพราะจะเสียเวลาและเสียโอกาส โดยโครงการนี้เปิดประมูลตั้งแต่ปี 2554 แล้วยังไม่ได้ข้อยุติเลย