xs
xsm
sm
md
lg

เล็งประมูลทางคู่แก่งคอยก.พ.58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ร.ฟ.ท.เตรียมเดินหน้าประมูลรถไฟทางคู่ (ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) มูลค่า 1.13 หมื่นล้าน หลังกรมบัญชีกลางยันรวมค่าเครื่องจักรกับค่าก่อสร้างไม่ขัดระเบียบ แต่ให้แจกแจงรายละเอียดที่มาให้ชัด คลายปมปัญหา TOR ร.ฟ.ท. เตรียมชี้แจง สตง. และ คตร. คาดเปิดเคาะราคาได้ก.พ.ปี 58

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการ ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยและช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาทว่า ล่าสุดทางกรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพอ.) ได้ตอบข้อหารือเรื่องการรวมค่าใช้จ่ายเครื่องจักรไว้กับค่างานก่อสร้างมายังร.ฟ.ท.แล้วว่าตามระเบียบกรมบัญชีกลางไม่มีกำหนดในเรื่องดังกล่าว แต่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ โดยให้ร.ฟ.ท.อธิบายรายละเอียดที่มาของราคากลางในส่วนของค่าใช้จ่ายเครื่องจักรให้ชัดเจน เพื่อความรอบคอบ

โดยหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งดำเนินการตามความเห็นของกรมบัญชีกลางและทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้มีข้อท้วงติงในประเด็นเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ที่ร.ฟ.ท. กำหนดให้รวมค่าใช้จ่ายเครื่องจักรไว้กับค่างานก่อสร้าง โดยสตง.เห็นว่าไม่มีระเบียบกำหนดไว้ให้นำค่าเครื่องจักรมารวมกับค่าก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจะทำหนังสือถึงคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อแจ้งว่าจะมีการเดินหน้าประกวดราคาตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนม.ค.2558 จะดำเนินการตามขั้นตอนแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้ยื่นแข่งขันราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และเคาะราคาได้ในเดือนก.พ.2558

"กรมบัญชีกลางตอบมาค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ผิด ทำได้ แต่ให้แจกแจงรายละเอียดวิธีคิดราคาเครื่องจักร เพราะในระเบียบกรมบัญชีกลางไม่กำหนดไว้ ดังนั้น รถไฟก็ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าคิดราคาต่อหน่วยมาได้อย่างไร แล้วก็ชี้แจงไปยัง สตง. ที่ทักท้วงประเด็นนี้มา แต่หากกรมยัญชีกลางตอบว่าผิด จะกระทบและทำให้โครงการล่าช้า เพราะต้องเสียเวลาในการประกวดราคาใหม่ และอาจจะกระทบต่อราคากลางที่ต้องปรับเปลี่ยนตามเวลาที่เปลี่ยนไปอีกด้วย แต่เมื่อไม่ผิดระเบียบสามารถเดินหน้าได้ทันที"นายประเสริฐกล่าว

สำหรับผู้รับเหมาที่ยื่นประกวดราคามีทั้งสิ้น 6 ราย ประกอบ ด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CKร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5.บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับบริษัทไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6.บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

ส่วนการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาทนั้น นายประเสริฐกล่าวว่า คณะกรรมการประกวดราคาอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เพื่อปรับตัวเลขค่าก่อสร้างลงจากที่เสนอมา 49,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ทางเอกชน กำลังหารือกับพาร์ทเนอร์ และซัพพลายเออร์ ซึ่งคาดจะทราบความชัดเจนว่า เอกชนจะรับกรอบราคาที่ต่อรองกันไว้ได้หรือไม่ก่อนวันที่ 25 ธ.ค.2557 โดยหากราคาสุดท้ายเกินกรอบที่ได้รับอนุมัติ ไม่มากและมีที่มาที่ไป สามารถอธิบายได้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอปรับเพิ่มต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น