xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม MHSC เสนองานระบบบสายสีแดง 4.9 หมื่นล้าน ร.ฟ.ท.มึนราคาแพงหูฉี่ เจรจาไม่ลด จ่อยกเลิกประมูลใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
ร.ฟ.ท.เปิดซองราคาสัญญา 3 งานระบบและรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ของกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิ และซูมิโตโม) กว่า 4.9 หมื่นล้าน สุดแพงเกินกรอบวงเงินกว่า 2 หมื่นล้าน “ภากรณ์” เผยประเมินรายละเอียด 1 เดือนก่อนเรียกเจรจาต่อรอง ลั่นไม่ลดลงมาตามกรอบที่มีเสนอยกเลิกประมูลใหม่



นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า (E&M) สายบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 27,926 ล้านบาท เปิดเผยว่า วันนี้ (29 ก.ค.) ได้เปิดซองข้อเสนอด้านราคาของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ซึ่งผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นมาเพียง 1 ราย ปรากฏว่าเสนอราคารวม 4.9 หมื่นล้านบาท (แบ่งเป็นเงินสกุลบาทที่ 12,057,090,568 บาท เงินสกุลเยนที่ 118,276,374,263 เยน) โดยผู้รับเหมาได้เสนอราคาแยกในส่วนของงาน E&M เส้นทางบางซื่อ-รังสิต วงเงินรวมประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท (เป็นเงินสกุลบาทที่ 10,342.350,987 บาท และเงินสกุลเยนที่ 96,676,708,762 เยน) และเสนอราคางาน E&M เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงินรวมประมาณ 8.6 พันล้านบาท (เป็นเงินสกุลบาทที่1,714,739,581 บาท และเงินเยนที่ 21,599,665,501 เยน)

ทั้งนี้ ราคาที่กลุ่ม MHSC เสนอ 4.9 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นราคาที่ทำยื่นไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 3 ปีก่อน ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินที่ ร.ฟ.ท.ได้ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ประเมินล่าสุดไว้ที่ 2.79 หมื่นล้านบาท ถึง 90% หรือเสนอสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการประกวดราคาจะให้บริษัท เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) ที่ปรึกษาโครงการได้ตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอของราคาที่เสนอว่ามีความเหมาะสมกับเนื้องานหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจากนั้นจึงเรียกกลุ่ม MHSC มาเจรจาต่อรอง ซึ่งตามระเบียบองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งเงินกู้นั้นจะไม่ให้ต่อรองราคาวงเงินรวม แต่ให้เจรจาปรับลดในแต่ละรายการ โดยต้องดูราคาในแต่ละรายการที่เสนอมาว่ามีความเหมาะสมกับงานนั้นๆ หรือไม่ และมีความสมเหตุสมผลหรือไม่

นายภากรณ์กล่าวว่า เป้าหมายคือจะเจรจาเพื่อปรับลดวงเงินลงมาให้อยู่ในกรอบ 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มไม่เกิน 10% ที่ประมาณ 2.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากตกลงกันได้ตามขั้นตอนจะต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.รับทราบ จากนั้นต้องเสนอไปที่ JICA เห็นชอบก่อนจึงจะเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลารวมประมาณ 4-6 เดือน แต่หากการเจรจาไม่สามารถปรับลดราคาลงมาอยู่ในกรอบได้จะเสนอขอยกเลิกการประมูล ซึ่งจะยกเลิกได้หรือไม่ก็ต้องเสนอไปที่ JICA เห็นชอบเช่นกัน

“ถ้าเจรจาลดราคาไม่ได้ก็น่าจะทราบผลภายใน 1-2 เดือนนี้ แต่การยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะตอนนี้โครงการนี้ล่าช้ามามากแล้ว และจะส่งผลกระทบไปถึงสัญญา 1 และ 2 ที่เป็นการก่อสร้างงานโยธาที่จะแล้วเสร็จก่อนแต่ไม่มีระบบและรถไฟฟ้ามาวิ่ง” นายภากรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า (E&M) นั้นจะมีความแตกต่างจากการก่อสร้างงานโยธาที่เนื้องานและราคาจะค่อนข้างมีความชัดเจน ขณะที่งานระบบ E&M นั้นจะมีเทคโนโลยีมากกว่า ดังนั้น ผู้รับเหมาอาจจะเสนอเทคโนโลยีชั้นสูง อุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีคุณภาพสูงหรืออุปกรณ์สำรองจำนวนมาก จึงต้องดูรายละเอียดของข้อเสนอก่อน โดยเชื่อว่าจะสามารถเจรจาต่อรองปรับลดในส่วนที่มีเทคโนโลยีหรือจำนวนที่มากเกินความจำเป็นได้ แต่ไม่มั่นใจว่าจะบีบให้ราคาลงมาอยู่ในกรอบได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น