xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายหมอชิต-ขสมก.อืดกระทบก่อสร้างสีแดง “คมนาคม” เร่งทำกรอบเวลายันเสร็จปี 60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม
เลื่อนย้ายหมอชิตและอู่ ขสมก.เป็นปี 60 ส่อกระทบก่อสร้างสายสีแดง “ปลัดคมนาคม” เร่ง ร.ฟ.ท.-บขส.-ขสมก.ร่วมทำแผนกรอบเวลาย้ายออก ด้าน ร.ฟ.ท.ยังไม่ปรับแผนก่อสร้างสีแดง ยันเสร็จปี 60 ตามกำหนด เผยไจก้าแจ้งเห็นชอบผลเปิดซองเทคนิค สัญญา 3 (งานระบบ) วงเงิน 2.88 หมื่นล้าน เตรียมเดินหน้าเปิดราคา เผยเอกชนจ่อขอปรับราคาเหตุประมูลล่าช้าราคาคิดตั้งแต่ 4 ปีก่อน

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดสรรพื้นที่บริเวณย่านพหลโยธินวันนี้ (21 ก.ค.) ว่า ได้หารือร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยได้มอบให้ทั้ง 3 หน่วยงานเร่งจัดทำกรอบเวลาการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต พื้นที่ 75 ไร่ และอู่จอดรถของ ขสมก. พื้นที่ 25 ไร่ เพื่อก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของ ร.ฟ.ท. และรายงานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาพื้นที่อีกครั้งเพื่อสรุปรายละเอียด พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการจราจรเมื่อมีการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ออกไป

ทั้งนี้ ตามแผนเดิม บขส. และ ขสมก.จะทยอยออกจากพื้นที่แล้วเสร็จในปี 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตของ ร.ฟ.ท. แต่ล่าสุดคาดว่าทั้ง บขส. และ ขสมก.จะทยอยออกจากพื้นที่ทั้งหมดได้ภายในปี 2560 คาดว่า ขสมก.จะย้ายไปอยู่ใต้ทางด่วน โดยจะก่อสร้างทั้งอู่จอดรถ พื้นที่ 9 ไร่ และอู่สำหรับเติมก๊าซ NGV พื้นที่ 3.5 ไร่ ส่วน บขส.นั้นอยู่ระหว่างสรุปแผนที่จะย้ายสถานีขนส่งไปอยู่ที่ใหม่

“ได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงานเร่งสรุปกรอบระยะเวลาการย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งจะเป็นลักษณะการทยอยย้ายออกควบคู่กับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งสัญญาก่อสร้างสายสีแดงจะแล้วเสร็จในปี 2560 โดยคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการก่อสร้าง ส่วนแผนการปรับแบบสถานีกลางบางซื่อนั้นขณะนี้ได้จัดทำแผนเสร็จแล้ว พร้อมจะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา” นางสร้อยทิพย์กล่าว

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวถึงแผนการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ว่า ที่ผ่านมา บขส.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะทำการย้ายสถานีขนส่งโดยมี 4 จุด ประกอบด้วย บริเวณเมืองทองธานี, บริเวณรังสิต และบริเวณดอนเมืองฝั่งซ้าย และฝั่งขวา โดยแผนดังกล่าวได้จัดทำแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอ คสช.พิจารณา หาก คสช.อนุมัติ บขส.ก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต กล่าวว่า แม้การโยกย้ายออกจากพื้นที่ของ บขส.และ ขสมก.จะล่าช้ากว่าแผน แต่ ร.ฟ.ท.ยังไม่มีการปรับแผนก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 เพราะเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ โดยทยอยเข้าพื้นที่ที่สามารถทำได้ พร้อมทั้งประสานกับผู้รับเหมาปรับการทำงานให้เร็วขึ้น

ส่วนความคืบหน้าสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 28,899 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) ได้ส่งหนังสือมายัง ร.ฟ.ท.แจ้งอนุมัติข้อเสนอทางเทคนิคของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltdบริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ซึ่งเป็นผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นมาเพียง 1 ราย และในวันที่22 กรกฎาคม คณะกรรมการประกวดราคาฯ จะประชุมหารือเพื่อเปิดข้อเสนอราคา

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่กลุ่ม MHSC Consortium จะขอปรับขึ้นค่าก่อสร้างเนื่องจากเป็นราคาที่กำหนดไว้ 4 ปีแล้ว ประกอบกับหลักเกณฑ์ของ JICA ระบุให้ผู้เสนอราคาสามารถขอปรับขึ้นราคาได้ หากการเปิดข้อเสนอราคาล่าช้ากว่ากำหนด 270 วันขึ้นไป ขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มกิจการร่วมค้า SMCK Consortium (บริษัท SIEMENS Ak piengesellschaft บริษัทSIEMENS LIMITED บริษัทMITSUBISHI CORPORATION และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ก็เคยเสนอขอปรับขึ้นราคาถึง 19% มาแล้ว โดยหากกลุ่ม MHSC Consortium ขอปรับขึ้นราคาจริงจะส่งเรื่องให้ คสช.พิจารณา โดยหากไม่ยอมให้ปรับขึ้นราคาอาจต้องเปิดประกวดราคาใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น