xs
xsm
sm
md
lg

“ประภัสร์” ดันเปิดซองระบบรางสีแดง 2.89 หมื่นล้านในเดือน พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดซองเทคนิคและราคาประมูลระบบรางสายสีแดงมูลค่า 2.89 หมื่นล้านในเดือน พ.ค.นี้ หลังติดปัญหาฮั้วจนล่าช้ามากว่า 3 ปี “ประภัสร์” เผยกลุ่มมิตซูบิชิ-ซูมิโตโม ผ่านคุณสมบัติรายเดียว เปิดซองราคาได้โดยใช้ราคากลางเทียบเคียง ส่วนกลุ่มร่วมทุนของ ITD และกลุ่ม CK ตกคุณสมบัติหมด ยอมรับกังวลว่าเอกชนไม่ยืนราคาต่อ เหตุต้นทุนเพิ่ม
 
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 28,899 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงรายเดียวคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltdบริษัท Hitachi และบริษัท Sumitomo Corporation) ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า MIR Consortium (บริษัท Maru Beni coporation บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และบริษัท Hyundai Rotem Company) ถูกปรับออกจากการประกวดราคา เนื่องจากปัญหาเรื่องจริยธรรมในต่างประเทศ ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า SMCK Consortium (บริษัท SIEMENS Ak piengesellschaft บริษัท SIEMENS LIMITED บริษัท MITSUBISHI CORPORATION และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK) นั้น เอกสารไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขประมูล จึงถูกปรับตกเช่นกัน

ซึ่งการมีผู้ผ่านคุณสมบัติรายเดียวไม่มีปัญหา สามารถเปิดข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคาได้เพราะมีราคากลางเป็นกรอบไว้แล้ว โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) เห็นชอบแล้ว โดยจะเร่งรายงานให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นประธาน รับทราบได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ข้อกังวลหลังจากนี้คือ กลุ่ม MHSC Consortium ที่เหลือเพียงจะยังยืนราคาเดิมหรือไม่ เพราะเวลาผ่านมา 3 ปีแล้วต้นทุนต่างๆ จะผันแปรไป เช่น ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทจากที่เมื่อ 3 ปีก่อนอยู่ที่ 150-180 บาทต่อวัน ซึ่งหากเอกชนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประกวดราคาต่อ ร.ฟ.ท.ก็ต้องเปิดประกวดราคาใหม่ และต้องคิดราคากลางใหม่ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะสูงกว่ากรอบ 28,899 ล้านบาทแน่นอน
 
“เท่าที่ทราบมีการต่ออายุหนังสือค้ำประกันการประมูลกันมา 3 ครั้งแล้ว และครั้งล่าสุดกำลังจะหมดอายุเร็วๆ นี้ ถ้ากลุ่ม MHSC ปฏิเสธไม่ยอมยืนราคาแล้ว ก็เป็นสิทธิ์ ร.ฟ.ท.ต้องเปิดประมูลใหม่อย่างเดึยว ซึ่งเท่ากับต้องคิดราคากลางกันใหม่เพราะราคาที่ยึดกันอยู่ตอนนี้เป็นราคาที่คิดเมื่อต้นทุน 3 ปีก่อน คือ ทางเอกชนก็คงคิดหนัก ถ้าบริหารจัดการเก่งคงรับความเสี่ยงไหว 

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า MIR ที่ถูกปรับตก เนื่องจากบริษัท Maru Beni coporation ได้เคยร่วมทุนกับบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ยื่นแข่งขันรับงานในประเทศอินโดนีเซีย แต่พบว่าบริษัทจากสหรัฐฯ มีการให้สิทธิประโยชน์กับข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งตามกฎหมายสหรัฐฯ ถือว่ากระทำผิดร้ายแรงด้านจริยธรรม และบริษัท Maru Beni ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในฐานะผู้ร่วมทุน ซึ่งไจก้ามีระเบียบเรื่องนี้ชัดเจนว่าบริษัทที่มีปัญหาเรื่องดังกล่าวจะไม่สามารถเข้ายื่นประกวดราคาโครงการที่ไจก้าสนับสนุนเงินกู้เป็นเวลา 9 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น