เผย ป.ป.ช.ชี้ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย กรณีผู้ยื่นซองประมูลระบบรถไฟสายสีแดงสัญญา 3 (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 2 รายมีกรรมการทับซ้อนกัน โยนอำนาจ ร.ฟ.ท.พิจารณา จับตาบอร์ด พ.ย.นี้สั่งเดินหน้าหรือไม่ ด้านกลุ่ม CK ดิ้นชี้แจงผลงานหลังถูกปรับตกคุณสมบัติ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 28,899 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายัง ร.ฟ.ท.กรณีที่สอบถามถึงปัญหาผู้ยื่นเสนอราคาเป็นกรรมการทับซ้อนกันว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาด้านข้อกฎหมาย และมิใช่อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงต้องพิจารณาตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเองว่าสมควรดำเนินการอย่างไร
ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝ่ายกฎหมาย กระทรวงคมนาคมซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้สอบถามข้อกฎหมายไว้ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายัง ร.ฟ.ท.เแล้วช่นกัน โดยใหัความเห็นเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ส่วนทางบริษัท AEC ที่ปรึกษาโครงการยังได้ว่าจ้างบริษัท กำธร สุรเชษฐ แอนด์ สมศักดิ์ จำกัด สำนักงานทนายความ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในฐานะนักกฎหมายอิสระ ซึ่งมีความเห็นว่าผู้ยื่นข้อเสนอที่มีกรรมการทับซ้อน 2 กลุ่มไม่ถือว่าเป็นผู้เสนอราคาร่วมกันตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงสามารถเสนอราคาตามโครงการนี้ต่อไปได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นประธานว่าจะตัดสินใจเดินหน้าการประกวดราคาหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่มีนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. เป็นประธาน ได้เคยเสนอความเห็นต่อบอร์ดว่า ควรเดินหน้าการประกวดราคาในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากบุคคลที่เป็นกรรมการทับซ้อนกันนั้นเป็นเพียงแค่กรรมการอิสระ ไม่มีส่วนได้เสียในการบริหารงาน
ส่วนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) ได้เคยยืนยันว่า หาก ร.ฟ.ท.ยกเลิกการประกวดราคาจากสาเหตุดังกล่าวก็จะขอยกเลิกการให้เงินกู้ เพราะถือว่า ร.ฟ.ท.ไม่กระทำตามระเบียบของ JICA เนื่องจากตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นแล้ว บริษัทรับเหมาต้องมีกรรมการอิสระที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย และกรรมการดังกล่าวก็จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารงาน ดังนั้นคาดว่าการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะได้ข้อยุติ
โดยการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นล่าสุดมีผู้ผ่าน 2 ราย คือ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) 2. กลุ่มกิจการร่วมค้า MIR Consortium (บริษัท Maru Beni coporation บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ บริษัท Hyundai Rotem Company)
ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า SMCK Consortium (บริษัท SIEMENS Ak piengesellschaft บริษัท SIEMENS LIMITED บริษัท MITSUBISHI CORPORATION และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหากรรมการทับซ้อนกับกลุ่ม MHSC Consortium โดยกลุ่ม SMCK ไม่ผ่านคุณสมบัติเนื่องจากไม่แจกแจงรายละเอียดรายการผลงานในรอบปี โดยระบุเพียงมีการรับงานรวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) กำหนดนั้น ทางกลุ่ม SMCK ได้ขอให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยชี้แจงว่าไม่สามารถแจกแจงรายการได้เนื่องจากเป็นความลับของลูกค้า แต่ได้แสดงงบการเงินไว้อย่างชัดเจน จึงน่าจะเพียงพอต่อการยืนยันผลงาน ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาฯ ให้บริษัทชี้แจงมาเป็นทางการอีกครั้งเพื่อพิจารณาว่าขัดกับ TOR หรือไม่ และเป็นไปได้ว่าอาจอนุโลมให้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น