“ประภัสร์” เตรียมลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสายใต้ต้น พ.ค.นี้ก่อนตัดสินใจปิดบางช่วงเพื่อเร่งงานซ่อมบำรุง เหตุบางพื้นที่ทำงานได้น้อยเพราะกลางคืนไม่ปลอดภัย ชี้ทางสายใต้ทรุดโทรมมาก หวั่นไม่พร้อมเดินรถ โดยจะใช้รถยนต์ขนถ่ายช่วงที่ปิดซ่อม ขณะที่แบ่งประมูล 8 สัญญา กว่า 8 พันล้าน ทำงานรวม 900 วัน
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากแผนโครงการปรับปรุงทางรถไฟสายใต้ ระยะทางประมาณ 947 กม. ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้วรวม 8 สัญญา วงเงินรวมทั้งสิ้น 8,598.927 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 900 วันนั้น เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีการเดินรถถี่
เพราะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ใช้ทั้งเดินทางและขนส่งสินค้า ในขณะที่เส้นทางไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหญ่มากว่า 10 ปี ทำให้สภาพทรุดโทรมมาก และบางช่วงทรุดโทรมมากจนอาจกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินรถได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่าหลายช่วงสภาพทางไม่ดีและอาจไม่ปลอดภัยในการเดินรถ
ดังนั้น ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้จะลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำรวจสภาพทางจริงเพื่อประเมินว่าช่วงใดบ้างที่สภาพทรุดโทรมมาก ต้องเร่งซ่อมบำรุง อาจมีความจำเป็นจะต้องปิดการเดินรถชั่วคราวในช่วงดังกล่าวเพื่อให้ผู้รับเหมาได้ทำงานได้อย่างเต็มที่และทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น โดยหากได้ข้อสรุปว่าจะปิดเส้นทางช่วงใดนั้นจะต้องประชาสัมพันธ์และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดรถบริการผู้โดยสารรองรับการเดินทางในช่วงที่ปิดเส้นทางซ่อมเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องปิดหรือไม่ หรือถ้าปิดจะปิดช่วงไหน ต้องลงไปดูพื้นที่ดูว่ามีจุดใดบ้างที่เส้นทางแย่มากๆ รวมทั้งหารือกับผู้รับเหมาก่อนว่าหากปิดเส้นทางให้แล้วจะใช้เวลาทำงานเท่าไร แล้วประสานเรื่องดูแลการเดินทางในช่วงนั้น สายใต้ทั้งเส้นทางไม่ปิดเดินรถ แต่หากจำเป็นจะปิดเป็นบางช่วง เช่น ช่วงทุ่งสง ทางค่อนข้างแย่มาก ซึ่งเส้นทางสายใต้ต่างจากสายเหนือที่เคยปิดเดินรถช่วงอุโมงค์และเขา ซึ่งประชาชนมีทางเลือกอื่นในการเดินทางได้แต่ทางภาคใต้ใช้รถไฟเป็นหลักจึงค่อนข้างลำบาก อีกทั้งบางพื้นที่ผู้รับเหมาทำงานช่วงกลางคืนไม่ได้เพราะอาจไม่ปลอดภัย ก็ทำให้เหลือเวลาทำงาน 3-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นซึ่งน้อยมากทำให้ใช้เวลาปรับปรุงถึง 900 วัน ดังนั้นจำเป็นต้องปิดเดินรถบางช่วงเพื่อเร่งรัดงาน” นายประภัสร์กล่าว
สำหรับโครงการปรับปรุงทางสายใต้ 8 สัญญา ประกอบด้วย 1. ช่วงสถานีชุมทางหนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 149 กม. ระยะเวลา 900 วัน (7 ก.พ. 55-26 ก.ค. 57) กิจการร่วมค้า ไทย-ซีอาร์ไฟฟ์ จำกัด รับงานค่าจ้าง 1,003.903 ล้านบาท 2. สถานีชุมทางทุ่งสง-กันตัง ระยะทาง 93 กม. ระยะเวลา 600 วัน (16 พ.ย. 56-8 ก.ค. 58) หจก.อัศวอังกูร รับงานค่าจ้าง 339 ล้านบาท 3. สถานีชุมทางทุ่งสง-ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 216 กม. ระยะเวลา 900 วัน (18 ธ.ค. 56-4 มิ.ย. 59) กิจการร่วมค้าทีบีทีซี รับงานค่าจ้าง 1,945.999 ล้านบาท 4. ชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระยะทาง 214 กม. ระยะเวลา 900 วัน (รอลงนามสัญญาจ้าง) บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด รับงานค่าจ้าง 2,193.485 ล้านบาท
5. ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์-คีรีรัฐนิคม ระยะทาง 31 กม. ระยะเวลา 600 วัน(6 ก.พ. 57-28 ก.ย. 58) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ค่าจ้าง 348 ล้านบาท 6. ชุมทางเขาชุมทอง-นครศรีธรรมราช ระยะทาง 35 กม. ระยะเวลา 600 วัน (2 เม.ย. 57-พ.ย. 58) หจก.อัศวอังกูร ค่าจ้าง 344.540 ล้านบาท 7. ชุมทางหนองปลาดุก-น้ำตก ระยะทาง 131 กม. ระยะเวลา 900 วัน (18 ธ.ค. 56-4 มิ.ย. 59) กิจการร่วมค้า พีซีที จำกัด รับงานค่าจ้าง 1,294 ล้านบาท 8. ชุมทางหนองปลาดุก-สุพรรณบุรี ระยะทาง 78 กม. (19 ธ.ค. 56-5 มิ.ย. 59) กิจการร่วมค้า เอ.เอส.ช.ทวี รับงานค่าจ้าง 1,130 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากปรับปรุงทางแล้วจะต้องเร่งจัดหาหัวรถจักรเพิ่มด้วยซึ่งปัจจุบันมีใช้งานได้เพียง 140-150 คันเท่านั้น โดยในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้จะรับมอบหัวรถจักร 2 คันแรกจากทั้งหมด 20 คัน และจะทยอยรับมอบครบในต้นปี 58 ส่วนการจัดหาอีก 50 คันวงเงิน 5,500 ล้านบาท ได้ประกาศ TOR แล้ว คาดว่าจะประมูลได้ในปีนี้ และยังมีแผนเช่าใช้หัวรถจักรอีก 20 หัวสำหรับขนส่งสินค้า ค่าเช่าประมาณ 3.5-4 หมื่นบาทต่อวัน พร้อมดูแลบำรุงรักษา ระยะเวลาเช่า 15 ปี ซึ่งมีผู้ผลิตหลายรายสนใจ เช่น จีอี ของอเมริกา, จีน, เกาหลี โดยบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบในหลักการแล้ว รอเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณา