xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.อนุมัติสร้างรถไฟฟ้าสีเหลือง รอ ครม.ใหม่เคาะพร้อมสีชมพู-สีส้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) วงเงิน 5.5 หมื่นล้าน เสนอคมนาคม รอชง ครม.ใหม่เห็นชอบพร้อมอีก 2 สายคือสีชมพู และสีส้มที่เสนอไปก่อนหน้าแล้ว พร้อมเห็นชอบขยายเวลาก่อสร้างสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) อีก 150 วันเยียวยาผู้รับเหมา เหตุขึ้นค่าแรง 300 บาท

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 29.1 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี วงเงิน 55,986 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนจากนี้ต้องรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยหลังจากนี้ รฟม.ต้องนำเรื่องเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการต่อไป ทำให้จะมีโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.รอเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุม ครม.รวม 3 โครงการ ได้แก่ สายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด-แคราย-มีนบุรี, สายสีส้มเฟสแรก ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเป็นรถไฟฟ้ารางเดียว (Mono Rail) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000-40,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เส้นทางเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าวจนถึงแยกบางกะปิ เลี้ยวขวาไปทางทิศใต้เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกพัฒนาการ ศรีนุช ศรีอุดมสุข ศรีเอี่ยม แยกศรีเทพาเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการที่สถานีสำโรง โดยรัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนระบบรถ

นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบให้เพิ่มวงเงินค่าสาธารณูปโภคโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทราปราการ) อีก 20 ล้านบาท เนื่องจากมีการก่อสร้างเพิ่ม 2 สถานี คือ สถานีโรงเรียนนายเรือ และสถานีสายลวด พร้อมทั้งอนุมัติขยายเวลาก่อสร้างสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สัญญาที่ 2-3 เพื่ออีก 150 วัน ตามมติ ครม.เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนเดิม

โดยสัญญาที่ 2 คือ การก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ส่วนตะวันตก มีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นผู้รับเหมา ส่วนสัญญาที่ 3 การก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร มีกิจการร่วมค้า PAR (บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE บริษัท แอสคอนคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) เป็นผู้รับเหมา

นางสาวรัชนีกล่าวว่า บอร์ดได้มีมติเห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวตั้ง บนที่ดินบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของ 2 รฟม. 2 พื้นที่ คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงสถานีคลองบางไผ่ (สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ) และศูนย์ซ่อมบำรุงบางปิ้ง (สายสีเขียวใต้) ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟม.ได้ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับการเคหะฯ ไปแล้ว โดยรูปแบบของที่อยู่อาศัยนั้นการเคหะฯ จะต้องทำรายละเอียดโครงการเข้ามาเสนอ รฟม.อีกครั้งว่าจะสร้างเป็นลักษณะโครงการเอื้ออาทรหรือไม่อย่างไร

“จากการติดตามการดำเนินงานของ รฟม.พบว่าผลประกอบการดีขึ้นมาก ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าตามแนวรถไฟฟ้าเห็นความสำคัญในการทำทางเชื่อมต่อมายังสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าทั้ง 2 ฝ่าย และ รฟม.มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น” นางสาวรัชนีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลงานยังประเมินการทำงานปี 2556 ของ รฟม.ในระดับดีขึ้น โดยให้คะแนน 4.013 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ส่วนปี 2555 ได้ 3.7978 คะแนน ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือในการทำงานอย่างหนักของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รฟม.
กำลังโหลดความคิดเห็น