xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมแบ่ง 4 สัญญาก่อสร้างรถไฟไทย-จีน คัดพิเศษรับเหมาไทยรับงานโยธา 70%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เร่งชง สผ.เคาะ EIA รถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ- แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ทั้งโครงการใน ส.ค.แบ่งก่อสร้าง 4 สัญญา จ่อประมูลพิเศษเลือกผู้รับเหมาไทยรับงานโยธา 70% ตั้งเป้าทำพิธีเปิด เริ่มต้นก่อสร้าง 23 ต.ค. 58 ที่แก่งคอย

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วม รถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 5 ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกการประชุมร่วมกับ Mr.Wang Xiaotao หัวหน้าคณะฝ่ายจีน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ว่า การทำข้อตกลงกรอบการทำงาน (Frame Work Agreement) นั้นจะมีการตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่ายขึ้นพิจารณาความเหมาะสมและเนื้อหาของการทำงาน โดยกรอบจะแล้วเสร็จได้ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 10 ก.ย. พิจารณาก่อนลงนาม โดยโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. จะดำเนินการสำรวจ ออกแบบรวดเร็วกว่าโครงการทั่วไป เพราะมีแนวเส้นทางรถไฟเดิม และมีการศึกษาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน เส้นทางในประเทศลาวระยะทาง 471 กม.ใช้เวลาในการสำรวจมากถึง 2 ปี เนื่องจากไม่มีแนวเส้นทางรถไฟเดิม และเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าและภูเขากว่า 70% ดังนั้น ไทยใช้ข้อมูลเดิมประกอบการใช้เทคโนโลยีการสำรวจใหม่ทำให้รวดเร็วขึ้น จาก 1 ปีเหลือ 6 เดือนเท่านั้น

ส่วนหลักการก่อสร้าง จะแบ่งเป็น 4 สัญญา คือ สัญญา 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย) สัญญา 2 (ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด) สัญญาที่ 3 (ช่วงแก่งคอย-โคราช) และสัญญาที่ 4 (ช่วงโคราช-หนองคาย) โดยจะแบ่งทีมก่อสร้างออกเป็น 2 คู่ คือ สัญญา 1, 3 และสัญญา 2, 4 เพื่อสามารถเปรียบเทียบผลงานและมาตรฐานกันได้ โดยจีนจะส่ง 2 ทีมมาก่อสร้าง โดยในส่วนของผู้รับเหมาไทยได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว จะรับผิดชอบงานก่อสร้างพื้นราบสัดส่วนประมาณ 70% ส่วนผู้รับเหมาจีนจะก่อสร้างทางผ่านภูเขาและสะพาน สัดส่วนประมาณ 30% ซึ่งคาดว่าจะประกวดราคาได้ในเดือน ก.ย.นี้เพื่อเริ่มก่อสร้างใน ต.ค. โดยอาจจะต้องใช้วิธีพิเศษ แต่จะต้องให้มีความโปร่งใสมากที่สุด

ดังนั้น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้นจะต้องได้รับอนุมัติทั้งโครงการก่อนลงมือก่อสร้าง โดยขณะนี้ได้เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) พิจารณาผลการศึกษา EIA ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคายเดิม ส่วนบางตอนที่มีการเปลี่ยนแนว หรือสถานีเพิ่มซึ่งเป็นข้อมูลใหม่จะต้องนำเสนอเพิ่มเติม ซึ่งจะมีไม่เกิน 15% ของเนื้องานทั้งหมด คาดว่าจะเสนอ สผ.และได้รับการพิจารณาใน ส.ค. สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่จะใช้ที่แก่งคอย จ.สระบุรี เนื่องจากมีพื้นที่มากและอยู่ในแนวเส้นทางจะมีความสะดวก ส่วนศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) จะอยู่ที่เชียงรากน้อย

“จะมีบางช่วงที่มีการเบี่ยงเส้นทางจากเดิม และเพิ่มสถานีใหม่ โดยจะไม่ให้กระทบต่อการเวนคืนมากเกินไปและไม่กระทบสิ่งแวดล้อมเกินไป หากมากไปจะพยายามดึงกลับมาใช้แนวเดิม ส่วนมูลค่าโครงการ ตามการศึกษาเดิมที่เป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายนั้นอยู่ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ขณะนี้เป็นรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1.345 เมตร ความเร็วปานกลาง โดยการศึกษาผ่านมา 2 ปีเศษแล้ว และมีบางช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มสถานี และเส้นทางเพิ่มเติม ปัจจัยสภาพดิน ดังนั้น มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อประมาณการค่าก่อสร้างงานโยธาที่จะปรับไป ซึ่งต้องรอผลสำรวจออกแบบจบก่อนในเดือน ส.ค.นี้ ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า รถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร รถจะเป็นระบบไฟฟ้า ความเร็วปานกลาง ดังนั้นจะก่อสร้างเป็นทางคู่ใหม่ในพื้นที่เขตทางรถไฟ ไม่สามารถใช้ทางร่วม หรือแชร์แทร็กกับรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร ซึ่งใช้รถดีเซลได้ แต่ในอนาคตภายในปี 2575 รถไฟจะต้องปรับจากดีเซลเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น จะต้องมีการวางแผนในการเชื่อม 3 ระบบที่กลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์ คือ ราง 1.435 รถไฟไทย-จีน ราง 1.435 รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น และรถไฟขนาดราง 1 เมตรที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของจีน แต่จะต้องศึกษาว่าระบบของจีนเป็นระบบเปิด (Open System) เพื่อสะดวกในการเปลี่ยนผ่านและใช้เทคโนโลยีที่ต่อเนื่องกันได้ทุกประเทศ

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดตารางการประชุมว่า ในครั้งที่ 7 ว่าจะต้องสรุปเงื่อนไขและข้อตกลงด้านการเงิน รูปแบบการลงทุน งานสำรวจ ช่วงที่ 1 และ 3 งาน EIA ช่วงที่ 1 และ 3 งานเวนคืนแล้วเสร็จ คาดว่าจะเป็นช่วงวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 และมีการลงนามใน Frame Work Agreement วันที่ 10 ก.ย. 2558 ดำเนินการร่างสัญญาการก่อสร้างช่วง 11 ก.ย.-19 ต.ค. ลงนามสัญญาก่อสร้าง 20 ต.ค. 2558 เพื่อทำพิธีเปิดโครงการก่อสร้าง ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วันที่ 23 ต.ค. 2558

นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การศึกษา สำรวจออกแบบและก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 70-80% เหลือบางส่วนช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด โดยผล Feasibility Study จะเสร็จในกลางเดือน ส.ค.นี้ จะทราบวงเงินโครงการในส่วนของงานก่อสร้างและระบบรถเบื้องต้น ทางจีนยืนยันจะให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งเป็นอัตราที่ดีกว่าการที่ไทยจะกู้เองจากแหล่งเงินอื่นๆ ซึ่งจะมีการพิจารณาในขั้นของการพิจารณาด้านการเงิน โดยเงินทุนจะมาจากหลายแหล่ง คือ จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ใช้งบประมาณ การก่อสร้างงานโยธา ในขอบเขตที่ฝ่ายไทยรับผิดชอบ ใช้เงินกู้ภายในประเทศ, ขอบเขตงานของฝ่ายจีน (ระบบรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุม) ใช้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน และ/หรือเงินกู้เชิงพาณิชย์จากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกจากจีน (China EXIM Bank) โดยไทยเสนอตั้งบริษัทร่วมทุนในการเดินรถ การซ่อมบำรุง ระบบรถ และระบบอาณัติสัญญาณ ส่วนการประชุมครั้งที่ 6 ทางไทยและจีน ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะจัดที่เมืองเฉินตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค. 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น