“คมนาคม” เตรียมข้อมูลถกร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 5 ที่โคราช 30 มิ.ย.-1 ก.ค. เผยจีนขอเปลี่ยน ทำข้อตกลงกรอบการทำงาน (frame work Agreement) แทน MOC ขณะที่ออกแบบสถานีเพิ่มอีก 2-3 แห่ง ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช ด้าน “อาคม” ระบุ ไทยเสนอขอจีนร่วมทุนในบริษัทเดินรถ เพื่อช่วยทำตลาดหาผู้โดยสารและสินค้าใช้บริการแทนการจ้างเดินรถ เร่งสำรวจออกแบบเคาะวงเงินลงทุน ส.ค.นี้ ก่อนสรุปรูปแบบการเงินต่อไป
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้หารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมสำหรับการประชุมร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 5 วันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค. ที่ จ.นครราชสีมา โดยจะเป็นการติดตามสาระสำคัญจากการประชุมครั้งที่ 4 รวม 4 ประเด็น คือ 1. ความก้าวหน้าของงานที่ฝ่ายไทยและจีนรับผิดชอบ 2. รูปแบบการลงทุน 3. กรอบทางการเงิน 4. การฝึกอบรมบุคลากร และเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ จะหารือถึงข้อตกลงกรอบการทำงาน (frame work Agreement) ซึ่งจีนขอปรับจากที่ไทยเสนอทำบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation : MOC) และกำหนดการประชุมร่วมครั้งที่ 6 คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ส.ค. 2558 ที่ประเทศจีน โดยขณะนี้การสำรวจตอนที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา นั้นมีความคืบหน้า โดยจะมีการเพิ่มสถานี 2-3 สถานีจากผลศึกษาเดิมของรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เหมาะสมกับการเดินรถความเร็วปานกลาง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การร่วมลงทุนนั้นจะมีหลายรูปแบบซึ่งจะต้องรอผลการสำรวจออกแบบสรุปก่อนในเดือน ส.ค.นี้จึงจะมีความชัดเจนเนื่องจากจะทราบวงเงินลงทุนของโครงการ โดยรูปแบบการร่วมทุนเบื้องต้นคือ ไทยรับผิดชอบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเดินรถ ระบบรถ โดยการเดินรถ ไทยจะว่าจ้างบริษัทจีนเดินรถภายใต้เงื่อนไขปีที่ 1-3 เป็นบุคลากรจีน โดยบุคลากรไทยเข้าร่วมปีที่ 4-7 ลดสัดส่วนของบุคลากรจีนลง 50% และปีที่ 7 เป็นต้นไปจะเป็นบุคลากรไทยทั้งหมด
ในขณะที่ไทยเสนอให้จีนร่วมลงทุนเรื่องการเดินรถเพื่อต้องการให้จีนช่วยทำตลาด ทั้งผู้โดยสารและสินค้าใช้บริการ หากใช้รูปแบบว่าจ้างจีนเดินรถ เท่ากับไทยจะต้องทำการตลาดฝ่ายเดียว ซึ่งสินค้าอาจจะไม่ลงมา โอกาสในการคุ้มค่าจะน้อยลง
“รูปแบบที่ฝ่ายไทยเสนอไปและที่จีนเสนอต้องรอการหารือในครั้งที่ 5 ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนเพราะต้องรอการสำรวจออกแบบที่จะทราบวงเงินลงทุนก่อน แต่ในเรื่องการแบ่งความรับผิดชอบ การหาแหล่งเงิน หรือการให้เงินกู้ ทางจีนไม่ขัดข้อง เช่น กรณีใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ ให้ใช้เงินหรือกู้ในประเทศไทย ส่วนอะไรที่เป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากจีนจะใช้เงินกู้ของจีน ซึ่งจะเป็นดอกเบี้ยอัตราพิเศษ แต่รายละเอียดยังต้องคุยต่อไป”