รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ โต้กระแสข่าวยกเลิกโครงการรถไฟไทย - จีน ไม่เป็นความจริง ชี้เตรียมสร้างเส้นแรก กทม.- แก่งคอย - โคราช ภายในปี 58 อีกทั้งญี่ปุ่นสนใจลงทุนอีก
วันนี้ (1 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า ไทยยกเลิกโครงการรถไฟ เชื่อมไทย - จีน ว่า รัฐบาลไทยขอยืนยันว่าประเด็นนี้เป็นข่าวลือ ไม่มีมูลความจริง ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลจีน เสนอพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ความเร็ว 180 กม./ชม. สายหนองคาย - โคราช - แก่งคอย - มาบตาพุด และ แก่งคอย - กรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กม. เพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟ จีน - ลาว ที่ หนองคาย - เวียงจันทน์ ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ อยู่ระหว่างเตรียมจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม ไทย - จีน ครั้งที่ 5 ปลายเดือน มิ.ย. นี้ ส่วนการสำรวจเส้นทาง และประเมินราคาจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. ตามแผนที่วางไว้ คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างสาย กรุงเทพฯ - แก่งคอย - โคราช ได้ภายในปี 2558
“รัฐบาลไทย และจีน เห็นตรงกันว่า ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมมือกันด้านการพัฒนารถไฟ เชื่อมโยงภูมิภาคนี้ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากทางรถไฟเชื่อมไทย - จีน แล้ว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทย สนใจจะเข้ามาดำเนินโครงการรถไฟในไทย คือ รถไฟเส้นทาง กาญจนบุรี - กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา - แหลมฉบัง และ กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา - อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. และรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ชิงกันเซน) เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระยะทาง 670 กม. โดยรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ MOC ร่วมกันเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจน ในการให้ความร่วมมือกับมิตรประเทศ ในการสร้างทางรถไฟไทย-จีน และ การลงทุนทางรถไฟของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่า โครงการต่างๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้