คมนาคมคิกออฟความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เผยญี่ปุ่นยังกังวลจำนวนผู้โดยสารไฮสปีด เตรียม 3 ทีมลงสำรวจส้นทางไฮสปีด กทม.-เชียงใหม่, กาญจนบุรี-สระแก้ว-แหลมฉบัง และการขนส่งสินค้า “อาคม” เผยทบทวนผลศึกษาไฮสปีด 3 เดือน คาดออกแบบรายละเอียดเสร็จปี 60 เริ่มก่อสร้างต้นปี 61
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ได้ประชุมคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบราง ครั้งที่ 1 ระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย กับ นายชิมูระ รองอธิบดีกรมรถไฟ ผู้แทนจากกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และท่องเที่ยว ของญี่ปุ่น (MLIT) และคณะ โดยได้ตกลงในการจัดทำแผนการทำงานร่วมกัน 3 ทีม ประกอบด้วย 1. ทีมสำรวจออกแบบเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. 2. ทีมสำรวจเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. และ 3. ทีมด้านระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยจะส่งทีมเข้ามาในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนคณะทำงานระดับกระทรวงจะนัดประชุมกันทุก 3 เดือน
ทั้งนี้ แผนการทำงานในส่วนของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น จะนำผลการศึกษาความเป็นไปได้และข้อมูลเบื้องต้นที่มีเดิมมาทบทวน โดยทางญี่ปุ่นระบุว่าจะเริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมฉบับเต็ม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะทำการสำรวจออกแบบประมาณ 1 ปี คาดว่าจะสรุปผลเบื้องต้นได้ประมาณกลางปี 2559 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการ และการศึกษาออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2560 ซึ่งจะขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไปเพื่อเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2561
“รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่มีการศึกษาเบื้องต้นไว้แล้ว ซึ่งทางญี่ปุ่นย้ำว่าระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นปลอดภัยสูงสุดในโลก ดังนั้นต้องมีความละเอียดรอบคอบในการสำรวจออกแบบ โดยเฉพาะด้านกายภาพและภูมิศาสตร์ โดยจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กม. และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี”
สำหรับรูปแบบการลงทุนและการเงินนั้น ญี่ปุ่นจะส่งบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาร่วมหารือ ซึ่งไทยเห็นว่าควรเป็นการร่วมทุนเพื่อแบ่งความรับผิดชอบกัน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงจะต้องให้ความสำคัญต่อปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งตลอดเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะผ่านเมืองท่องเที่ยวและเมืองธุรกิจ นอกจากนี้ ไทยจะมีแผนเชื่อมรถไฟ จากแม่สอด-มุกดาหาร (ตะวันตก-ตะวันออก) โดยเบื้องต้นมีการศึกษาช่วงแม่สอด-นครสวรรค์ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม แล้ว