xs
xsm
sm
md
lg

ข้องใจนายกฯดันรถไฟเร็วสูง ทิ้งทางคู่-เชื่อเอกชนไม่สนใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28พ.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความแปลกใจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สาย คือ กทม.-หัวหิน , กทม.-พัทยา และ กทม.-เชียงใหม่ เพราะทั้ง 3 โครงการ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะบอกว่า เอกชนจะเป็นผู้ลงทุน เพราะไม่มีเอกชนรายใดทำธุรกิจที่ขาดทุนแน่นอน ตนเชื่อว่าโครงการเหล่านี้รัฐต้องลงทุนเองไม่น้อยกว่า 80 %
ทั้งนี้ ต้องดูทีโออาร์ว่ารัฐบาลจะลงทุนอย่างไร เพราะไม่มีรายละเอียด แต่สิ่งที่แน่นอนคือ เอกชนลงทุนต้องได้กำไร คาดว่าถ้าให้เอกชนลงทุนเป็นสัดส่วนที่มากโครงการคงไม่เกิด เพราะขาดทุน และตนไม่แน่ใจว่าเอกชน 3-4 ราย ที่ปรากฏชื่อ จะมีความสนใจโครงการเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน
"ถ้าเจ้าสัวเหล่านี้จะสร้างก็ต้องมีเงื่อนไขกับรัฐบาล สมมติ อาจจะมีการสร้างเมืองใหม่ เพราะมีที่ดินอยู่ในบริเวณนั้นเขาก็ต้องได้ผลประโยชน์คุ้มค่า การพัฒนาระบบโลจิสติก สามารถทำได้โดยการสร้างรถไฟทางคู่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้สร้างแม้แต่สายเดียว ถ้าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้เกิดการต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ยิ่งต้องพิจารณาว่า รัฐควรดำเนินการหรือไม่ ใครได้ประโยชน์ แต่ในขณะนี้ต้องดูว่าเอกชนจะทำจริงหรือไม่ เพราะเห็นมี ซีพีเพียงบริษัทเดียว ที่ดูข้อมูล ส่วนอื่นยังไม่เห็นมีการศึกษาเลยไม่ว่าจะเป็น เบียร์ช้าง หรือ บีทีเอส" นายสามารถ กล่าว
อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ยังทวงสัญญาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยระบุว่า จะพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการก่อสร้างแม้แต่สายเดียว จึงขอให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้จะดีกว่า เพราะรัฐบาลชั่วคราว ไม่ควรทำโครงการใหม่ เนื่องจากใช้เวลานาน ทั้งที่จะทำกับจีนกับญี่ปุ่น เพราะสุดท้ายทั้งสองประเทศอาจไม่ร่วมลงทุนด้วย ให้แต่เงินกู้ อีกทั้งหากทำรถไฟทางคู่ จะได้ผลต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกมากกว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งที่เรื่องรถไฟความเร็วสูง จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน เพราะรัฐบาลมีเวลาสั้นควรทุ่มเทกับรถไฟทางคู่มากกว่า
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าทั้ง 3 โครงการนี้คงไม่เกิดขึ้น เพราะในอดีต การรถไฟฯ ได้เชิญเอกชนลงทุนหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจเพราะขาดทุน แต่ถ้าจะมองว่า กำลังทำรถไฟความเร็วสูง เพื่อต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังคิดว่าไม่น่าจะคุ้มทุน เนื่องจากผู้โดยสารจะน้อยที่คิดว่าจะพัฒนาให้เกิดเมืองใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนกรณีที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒน์ เคยระบุว่า "รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โมเดลน่าจะเป็นไปได้คือ รัฐและเอกชนร่วมกันลงทุน โดยเอกชนมีเงินมาก จะลงทุนไปก่อน อาจจะไม่ก่อสร้างเอง หลังจากนั้นให้รัฐบาลชำระภายหลัง ทั้งซีพี และไทยเบฟฯ มีธุรกิจในเครือเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า มีศูนย์กระจายสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ สามารถต่อยอดโครงการได้" นั้น นายสามารถ เห็นว่า ถ้าดำเนินการเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นโครงการเทิร์นคีย์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครทำแล้ว และมีมติ ครม.ให้พยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากทำให้ต้นทุนโครงการแพงขึ้นโดยใช่เหตุ เนื่องจากเอกชนกู้เงินมาลงทุนดอกเบี้ยแพง ต้นทุนก็แพงด้วย และเป็นลักษณะเหมือนกับการออกแบบไป สร้างไป ทำให้กำหนดงบประมาณและคุมการก่อสร้างยาก ถ้าทำแบบนี้ก็เหมือนรัฐไปกู้เงินจากเอกชนมาทำ จะเสียดอกเบี้ยมากกว่าการไปกู้เงินกับไจก้า หรือที่อื่น ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น