xs
xsm
sm
md
lg

อุดรธานีเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม พร้อมบริษัทที่ปรึกษา เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอกลุ่มเป้าหมายภายในจังหวัดอุดรธานี

วันนี้ (22 ม.ค. 58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมทุ่งศรีเมือง โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

เพื่อนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชน ภายในจังหวัดอุดรธานีได้รับทราบกรอบแนวทางการศึกษาในด้านต่างๆ ทั้งงานการศึกษาความเหมาะสม งานการออกแบบกรอบรายละเอียด และงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปประกอบการศึกษาในขั้นต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2552-2559) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และนโยบายของคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้เร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในภูมิภาคอาเซียน และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กม. ซึ่งรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาปฏิรูปแห่งชาติของจีนได้มีการทำพิธีลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้ การออกแบบได้กำหนดให้สามารถรองรับระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้ด้วย

สำหรับโครงการศึกษาครั้งนี้ แนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย โดยกำหนดเกณฑ์การออกแบบเบื้องต้นให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น โดยเพิ่มรัศมีโค้งในบางบริเวณเพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสามารถรองรับการเดินรถด้วยความเร็วสูงได้

ในอนาคตเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมื่อโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ช่วงนครราชสีมา-หนองคายเสร็จสมบูรณ์ และเชื่อมต่อกับช่วงนครราชสีมา-ท่าเรือมาบตาพุต แล้วจะสามารถเติมเต็มโครงข่ายการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนระหว่างกรุงเทพฯ และภาคอีสานไปสู่ภาคตะวันออก สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น