xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีฟังความเห็นรถไฟทางคู่โคราช-หนองคายเพิ่มศักยภาพไทยเชื่อมลาว-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย - เปิดเวทีฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน นครราชสีมา-หนองคาย ระบุหนองคายเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ก่อนทะลุผ่าน สปป.ลาวเข้า 5 มณฑลของจีน สอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถการแข่งขันของไทย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (23 ม.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมือง จ.หนองคาย นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรจัดขึ้น

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 โครงการศึกษาในครั้งนี้แนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมาและสิ้นสุดโครงการที่สถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร

เบื้องต้นออกแบบให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น โดยเพิ่มรัศมีโค้งในบางบริเวณเพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสามารถรองรับการเดินรถด้วยความเร็วสูงได้ เดิมรางรถไฟไทยขนาด 1 เมตร ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร วางเป้าหมายความเร็ว 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เหมาะสมกับความต้องการและกำลังทุนของไทยในปัจจุบัน

โดยสามารถปรับความเร็วเพิ่มขึ้นได้ตามปริมาณผู้โดยสารและสินค้าที่มากขึ้น โดยเปลี่ยนตัวรถไฟให้เป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้ทางเดิมได้ เนื่องจากทางมาตรฐานที่จะพัฒนานี้ได้กำหนดเกณฑ์การออกแบบรางให้เหมาะสมกับการรองรับค่าความเร็วของรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเอาไว้ด้วย

นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า เมื่อมีการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐานเกิดขึ้น จะทำให้จังหวัดหนองคายซึ่งวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ทั้งด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน การขนส่งระบบรางจะสะดวกมากขึ้นสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ประกอบกับการเข้ารับการพิจารณาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของจังหวัดหนองคายจะช่วยผลักดันให้มีศักยภาพมากขึ้น

“เมื่อรถไฟสายนี้สร้างเสร็จจะเชื่อมโยงจากไทยเข้า สปป.ลาวที่มีประชากร 5 ล้านคน ผ่านทะลุไปถึง 5 มณฑลของจีนที่มีประชากรประมาณ 250 ล้านคน การขนส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายคนจะสะดวก รวดเร็ว และจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ในระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียนของประเทศไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย” นายสุชาติกล่าวในตอนท้าย





กำลังโหลดความคิดเห็น