ไทย-จีนเริ่มหารือความร่วมมือครั้งที่ 1 พัฒนารถไฟทางคู่ กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย “ประจิน” เผยจีนรับข้อเสนอแบ่งงานก่อสร้าง 4 ช่วง พร้อมส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก CRC ลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบประมาณการลงทุนใน มี.ค.นี้ เร่งก่อสร้างเสร็จใน 2.5 ปี
วันนี้ (21 ม.ค.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมเป็นประธานการประชุมร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มกราคมนี้ ที่กระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 หลังได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557
โดย พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อกำหนดกรอบตารางการทำงาน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินงานร่วมกันทั้งในการวางแผน อำนวยการและลงพื้นที่ปฏิบัติการ สำรวจและออกแบบการประมาณการด้านราคาของโครงการ รวมถึงการกำหนดรูปแบบการลงทุนร่วมกันจะนำไปสู่การก่อสร้างทางในกรอบเวลาที่กำหนด สำหรับโครงการดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดการจ้างงาน มีรายได้ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมจีนกับอาเซียน อำนวยความสะดวกด้านการค้า การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งถึงแผนงานเพื่อให้ทางจีนพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่วมกัน โดยไทยได้ตั้งสำนักงานบริหารโครงการภายใต้เอ็มโอยูไทย-จีน (สบร.) โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าสำนักงาน ทำหน้าที่ประสานงาน ส่วนการปฏิบัติงานนั้นมีคณะทำงาน 2 ชุด โดยเป็นคณะอนุกรรมการที่มีกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำงานร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น (CRC) ของฝ่ายจีน และอีกคณะจะเป็นอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ทั้งนี้ ไทยและจีน เคยมีการศึกษาร่วมกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2553 และมีการปรับข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 จึงมั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายมีข้อมูลในความร่วมมือนี้มากกว่า 50% แล้ว
ส่วนการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 4 ช่วง โดยช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ จึงมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยที่สุด ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. แนวเส้นทางจะยากขึ้น เนื่องจากผ่านพื้นที่อุทยานและต้องเวนคืนที่ดิน แต่เชื่อว่าการสำรวจออกแบบและประมาณราคารวมถึงการกำหนดรูปแบบ ช่วงที่1, 2 จะเสร็จตามเผน คือ เริ่มออกแบบเดือนมีนาคม 2558 สรุปในกันยายน 2558 เริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จเปิดเดินรถได้ในเดือนมีนาคม 2561
ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. แม้เส้นทางจะยากมากขึ้นแต่เชื่อว่าทาง CRC ของจีนจะดำเนินการได้ตามแผน โดยฝ่ายไทยจะจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงานของจีนอย่างเต็มขีดความสามารถ โดยคาดว่าจะจัดทีมสำรวจออกแบบ 2 ชุด เพื่อเร่งรัดงานได้ตามกรอบเวลา โดยในวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุมร่วมครั้งที่ 2 เพื่อตกลงรูปแบบการลงทุนต่อไป
โดยผลการหารือครั้งแรกได้ข้อสรุป 1. ทางจีนเข้าใจแผนและกรอบเวลาของไทย เบื้องต้นเข้าใจตรงกัน ตั้งแต่ความเป็นมาของความร่วมมือสองฝ่าย การทำเอ็มโอยู และการตั้งคณะทำงาน 2. มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดการบริหารโครงการในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และด้านการเงิน ซึ่งจะทำกรอบตารางการทำงานร่วมกัน 3. เห็นชอบร่วมกันในการแบ่งงานเป็น 4 ช่วง เพื่อก่อสร้างโครงการได้รวดเร็วเป็นไปตามแผนงาน 4. ทางจีนยินดีในการจัดคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญจาก CRC เข้ามาลงมือสำรวจและออกแบบทันที โดยไทยจัดเจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุนการสำรวจ
อย่างไรก็ตาม ทางนายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า แผนงานก่อสร้างโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงเพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 2.5 ปีนั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งต้องอยู่ที่การศึกษาสำรวจออกแบบที่จะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 ด้วย และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของความร่วมมือ โดยหน่วยงานและบริษัทของจีนจะให้ความร่วมมือกับไทยอย่างทุ่มเท เพราะทราบดีว่ามีเวลาจำกัด ซึ่งจีนจะส่งผู้เชี่ยวชาญและทีมสำรวจทำงานทันทีตามข้อตกลง