xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมข้อมูลลงทุนรถไฟทางคู่ หารือที่ประชุมไทย-จีน รอบ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อนุฯ ด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนรถไฟทางคู่ไทย-จีน รางมาตรฐาน ยึดผลศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชเป็นต้นแบบเจรจา เหตุใช้แนวเดียวกัน รอลงพื้นที่ประเมินค่าก่อสร้างและจำนวนผู้โดยสารใหม่ คาดอาจจ้างที่ปรึกษาทบทวนผลศึกษาเดิมเพื่อประเมินรายได้และการพัฒนาเชิงพาณิชย์

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) 1.435 เมตร ระหว่างไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับทราบกรอบเวลาการทำงานที่คณะกรรมการบริหารโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย (คบร.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน กำหนดเบื้องต้น

โดยรูปแบบการลงทุนนั้น คณะอนุฯ ด้านการเงินเห็นว่าควรนำผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สนข.ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างศึกษาช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยายกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ศึกษานำมาประมวลเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ไทย-จีนก่อน เนื่องจากแนวเส้นทางและที่ตั้งสถานีของรถไฟความเร็วสูงมีความสอดคล้องกับรถไฟทางคู่ และหลังจากทั้งสองฝ่ายตั้งคณะทำงานลงสำรวจออกแบบในเดือนมีนาคม 2558 จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะมีค่าก่อสร้างเท่าไร รวมถึงการประเมินเรื่องจำนวนผู้โดยสาร เนื่องจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรายได้และการพัฒนาเชิงพาณิชย์

“ฝ่ายไทยมีความเห็นในส่วนของไทย แต่จะรอความเห็นจากฝ่ายจีนด้วยว่าจะลงทุนรูปแบบใด คาดว่าการหารือร่วมไทย-จีน ในรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์นี้จะได้ข้อยุติเรื่องรูปแบบการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น หากมีความจำเป็นอาจต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทบทวนผลการศึกษาเพิ่มเติมเพราะรถไฟทางคู่อาจมีความเร็วลดลงจากรถไฟความเร็งสูง จำนวนผู้โดยสารจะเป็นอย่างไร สถานีจะพัฒนากันอย่างไร ส่วนแนวเส้นทางน่าจะเป็นแนวเส้นทางเดียวกัน”

ส่วนการประชุมระหว่างไทย-จีน ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคมนี้ เป็นการหารือร่วมเป็นครั้งแรก โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งเบื้องต้นจะมีการหารือถึงแผนการทำงานที่ฝ่ายไทยได้วางไว้ก่อน คือ การแบ่งงานก่อสร้างเป็น 4 ช่วง ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร วงเงินเบื้องต้นเกือบ 4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1. ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร 2. แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น