xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” ข้องใจนายกฯ ลุยรถไฟความเร็วสูงที่ส่อขาดทุน จี้พัฒนารถไฟรางคู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.ปชป.แปลกใจ “ประยุทธ์” เดินหน้ารถไฟความเร็วสูง กทม. หัวหิน-พัทยา-เชียงใหม่ เหตุส่อขาดทุน เอกชนไม่สน เว้นซีพี ย้อนสัญญาพัฒนารถไฟรางคู่ จนบัดนี้ยังไร้วี่แว่ว จี้ทำโครงการนี้ พัฒนาระบบลอจิสติกส์มากกว่า ดัก รบ.ชั่วคราวไม่ควรทำโครงการใหม่ ส่วนตัวเชื่อไม่เกิดขึ้น ค้านเทิร์นคีย์ทำต้นทุนสูง เหมือนกู้เอกชนมาลงทุนเสียดอกแพงกว่าปกติ

วันนี้ (28 พ.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความแปลกใจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สาย คือ กทม.-หัวหิน กทม.-พัทยา และ กทม.-เชียงใหม่ เพราะทั้งสามโครงการไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะบอกว่าเอกชนจะเป็นผู้ลงทุน เพราะไม่มีเอกชนรายใดทำธุรกิจที่ขาดทุนแน่นอน ตนเชื่อว่าโครงการเหล่านี้รัฐต้องลงทุนเองไม่น้อยกว่า 80%

ทั้งนี้ ต้องดูทีโออาร์ว่ารัฐบาลจะลงทุนอย่างไรเพราะไม่มีรายละเอียด แต่สิ่งที่แน่นอนคือเอกชนลงทุนต้องได้กำไร คาดว่าถ้าให้เอกชนลงทุนเป็นสัดส่วนที่มากโครงการคงไม่เกิดเพราะขาดทุน และตนไม่แน่ใจว่าเอกชน 3-4 ราย ที่ปรากฏชื่อจะมีความสนใจโครงการเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน

“ถ้าเจ้าสัวเหล่านี้จะสร้างก็ต้องมีเงื่อนไขกับรัฐบาล สมมติอาจจะมีการสร้างเมืองใหม่เพราะมีที่ดินอยู่ในบริเวณนั้นเขาก็ต้องได้ผลประโยชน์คุ้มค่า การพัฒนาระบบโลจิสติกสามารถทำได้โดยการสร้างรถไฟรางคู่แต่รัฐบาลยังไม่ได้สร้างแม้แต่สายเดียว ถ้าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้เกิดการต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ยิ่งต้องพิจารณาว่ารัฐควรดำเนินการหรือไม่ ใครได้ประโยชน์ แต่ในขณะนี้ต้องดูว่าเอกชนจะทำจริงหรือไม่ เพราะเห็นมีซีพีเพียงบริษัทเดียวที่ดูข้อมูล ส่วนอื่นยังไม่เห็นมีการศึกษาเลยไม่ว่าจะเป็น เบียร์ช้าง หรือบีทีเอส” นายสามารถกล่าว

อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อฯ ยังทวงสัญญาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยระบุว่าจะพัฒนารถไฟรางคู่ทั่วประเทศมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการก่อสร้างแม้แต่สายเดียว จึงขอให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้จะดีกว่า เพราะรัฐบาลชั่วคราวไม่ควรทำโครงการใหม่ เนื่องจากใช้เวลานานทั้งที่จะทำกับจีนกับญี่ปุ่น เพราะสุดท้ายทั้งสองประเทศอาจไม่ร่วมลงทุนด้วยให้แต่เงินกู้ อีกทั้งหากทำรถไฟรางคู่จะได้ผลต่อการพัฒนาระบบลอจิสติกส์มากกว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งที่เรื่องรถไฟความเร็วสูง จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนเพราะรัฐบาลมีเวลาสั้นควรทุ่มเทกับรถไฟรางคู่มากกว่า ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าทั้งสามโครงการนี้คงไม่เกิดขึ้น เพราะในอดีตการรถไฟฯ ได้เชิญเอกชนลงทุนหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความสนใจเพราะขาดทุน แต่ถ้าจะมองว่ากำลังทำรถไฟความเร็วสูงเพื่อต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังคิดว่าไม่น่าจะคุ้มทุน เนื่องจากผู้โดยสารจะน้อยที่คิดว่าจะพัฒนาให้เกิดเมืองใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนกรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการสภาพัฒน์ เคยระบุว่า “รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โมเดลน่าจะเป็นไปได้ คือ รัฐและเอกชนร่วมกันลงทุน โดยเอกชนมีเงินมากจะลงทุนไปก่อน อาจจะไม่ก่อสร้างเอง หลังจากนั้นให้รัฐบาลชำระภายหลัง ทั้งซีพี และไทยเบฟฯ มีธุรกิจในเครือเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า มีศูนย์กระจายสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ สามารถต่อยอดโครงการได้” นั้น นายสามารถเห็นว่า ถ้าดำเนินการเช่นนั้นจริงก็จะเป็นโครงการเทิร์นคีย์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครทำแล้วและมีมติ ครม.ให้พยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากทำให้ต้นทุนโครงการแพงขึ้นโดยใช่เหตุ เนื่องจากเอกชนกู้เงินมาลงทุนดอกเบี้ยแพงต้นทุนก็แพงด้วย และเป็นลักษณะเหมือนกับการออกแบบไปสร้างไป ทำให้กำหนดงบประมาณและคุมการก่อสร้างยาก ถ้าทำแบบนี้ก็เหมือนรัฐไปกู้เงินจากเอกชนมาทำจะเสียดอกเบี้ยมากกว่าการไปกู้เงินกับไจก้าหรือที่อื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น