xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสนครพนม “222” ก้าวสู่เขต ศก.พิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมงคล
นายมงคล ตันสุวรรณ
ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร)

  จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศให้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย แม่สาย จ.เชียงราย เชียงแสน จ.เชียงราย เชียงของ จ.เชียงราย จ.นครพนม จ.กาญจนบุรี และ จ.นราธิวาส เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่น่าจับตามอง ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียน “ASTVผู้จัดการรายวัน” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายมงคล ตันสุวรรณ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้

  ภาพรวมของเศรษฐกิจในจังหวัดนครพนมเป็นอย่างไร
มูลค่าการค้าชายแดนในปี 2557 มีมูลค่า 77,881.08 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าในสิ้นปี 2558 แนวโน้มมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการลงทุนในนครพนมจะมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ โดยมีการใช้ช่องทางการขนส่งทางสะพานแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ซึ่งสามารถผ่านไปยังลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ซึ่งหากเร่งให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดขึ้นได้เร็วจะทำให้จังหวัดมีการเติบโตและทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

จุดเด่นของจังหวัดนครพนมและความพร้อมในการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
จุดเด่นของจังหวัดนครพนมคือเป็นเมืองที่มีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับสูง และเรียกว่า มี “222” ทุกกลุ่ม คือ1. มี 2 สนามบิน คือสนามบินนครพนมและสกลนคร เพื่อใช้ในการขนส่งในการเดินทางได้อย่างสะดวก 2. มี 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือเขตเศรษฐกิจมุกดาหาร และนครพนม 3. มี 2 สะพานที่เชื่อมโยงนครพนม-คำม่วน และมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จังหวัดนครพนมมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและลอจิกติกส์ รวมทั้งเป็นแหล่งที่ผลิตอาหารปลอดภัย และศูนย์ธุรกิจการค้าส่งตลาดกลางสินค้าเกษตร และพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ความพร้อมของจังหวัดในการพัฒนามีขอบเขตการใช้พื้นที่อย่างไร
สำหรับโครงการพัฒนาจะมีการใช้พื้นที่ประมาณ 495,743 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 13 ตำบล คือ อำเภอเมือง 10 ตำบล และอำเภออุเทน 3 ตำบล โดยจะใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น “โคกภูกระแต” ซึ่งขณะนี้ได้มีการพัฒนาสร้างสาธารณูปโภคและทำคลังสินค้าและจัดตั้งอาคารศูนย์กระจายสินค้า ตลาดการแลกเปลี่ยนสินค้า นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน One stop service (OSS) ตั้งศูนย์ลอจิสติกส์ รวมทั้งมีการตั้งสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

โดยเป้าหมายของอุตสาหกรรมที่จะมีการผลักดันให้เกิด ได้แก่ 1. อุตฯ การเกษตร ประมง, การผลิตเซรามิก, อุตฯ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม, อุตฯ อัญมณีและเครื่องประดับ, การผลิตเครื่องมือแพทย์, ผลิตเครื่องเรือน, อุตฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตพลาสติก, ผลิตยา, ลอจิสติกส์, นิคม เขตอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ที่จังหวัดนครพนมให้แก่ผู้สนใจเข้ามาลงทุนคือเรื่องของพื้นที่ซึ่งได้จัดเตรียมไว้ให้นักลงทุน และอายุการเช่าที่นานถึง 50 ปี ทำให้มีความได้เปรียบและน่าสนใจที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในนครพนม

มองปัญหาและอุปสรรคของผลประโยชน์ที่ได้จากการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างไร

นายมงคลกล่าวว่า การที่รัฐผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษนับว่าเป็นเรื่องที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศและสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือคนในท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เพราะทรัพยากรท้องถิ่น ถนนหนทางต่างๆ ถูกนำไปใช้ แต่ประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร รายได้ส่วนใหญ่กลับไปตกอยู่ที่ส่วนกลาง

“รัฐควรเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการคิดและการทำ รวมทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ ถูกนำมาพัฒนาในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับนำงบดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงถนนหนทางที่ชำรุด แทนที่จะนำงบดังกล่าวไปพัฒนาสาธารณูปโภคใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา”

นอกจากนี้ รัฐควรจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับจังหวัดในการใช้พัฒนาถนน สาธารณูปโภค ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องรอแต่งบประมาณจากส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลเองต้องมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายในการกำหนดการใช้พื้นที่ที่ชัดเจน เช่น การทำโครงการรถไฟความเร็วสูงต้องมีความชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้บริหารจังหวัดที่รับผิดชอบโครงการต้องมีระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทำไปไม่นานครบวาระต้องย้าย คนมาใหม่ต้องมานับหนึ่งทำให้โครงการล่าช้าและเสียเวลา

“สิ่งที่ภาคเอกชนในจังหวัดกังวลคือเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน เพราะภาคเอกชนในท้องถิ่นไม่สามารถจะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เลย ซึ่งอยากให้มีเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนในนครพนมสามารถเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย”

ทิศทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในนครพนม ทางหอการค้าจังหวัดต้องการอยากให้มีทิศทางอย่างไร

นายมงคลกล่าวถึงข้อกังวลจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจว่ารัฐควรให้ภาคเอกชนในจังหวัดมีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยากให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาจังหวัดต้องนำงบดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงถนนหนทางที่ชำรุด แทนที่จะนำงบดังกล่าวไปพัฒนาสาธารณูปโภคใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจที่เติบโตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้สังคมที่มีคุณภาพ และต้องแยกเขตเมืองเก่าและเขตการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ให้มีความชัดเจน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไรบ้าง

นายมงคลกล่าวในตอนท้ายว่า ต้องการให้มีตลาดกลางสินค้า เพื่อดึงให้ผู้ประกอบการมาลงทุนมากยิ่งขึ้น และทำให้จังหวัดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากเอกชนที่สนใจสามารถเข้ามาตั้งฐานโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ได้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนอย่างมาก ที่สำคัญได้จัดเตรียมพื้นที่ในการลงทุนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น ลาว ก็มีการตั้งนิคมเศรษฐกิจขึ้น หากนครพนมล่าช้าก็จะทำให้เสียโอกาสไปในที่สุด
สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
กำลังโหลดความคิดเห็น