นครพนม - ผู้ว่าฯ นครพนมเผยตัวเลขค้าชายแดนพุ่งต่อเนื่องหลังเป็นประตูเชี่อมการค้าลาว เวียดนาม จีนระยะทางสั้นที่สุด คาดปี 58 ทะลุแสนล้านบาท เดินหน้าร่วมมือหอการค้าเร่งวางระบบลอจิสติกส์ดึงดูดนักลงทุนใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าอินโดจีน ด้านประธานหอการค้าแนะผู้ประกอบการท้องถิ่นพัฒนาสินค้าบริการรับทรัพย์พ่อค้ารายย่อยจากจีน
นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจการค้าชายแดน จ.นครพนมว่า ตั้งแต่มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน เมื่อปลายปี 2554 ทำให้การคมนาคมเส้นทางสายนี้มีระยะทางสั้นที่สุดเชื่อมไปยัง สปป.ลาว ตามเส้นทางถนนเศรษฐกิจหมายเลข 12 เข้าสู่ชายแดนเวียดนามแถบ จ.เหงะอาน จ.ฮาติงห์ และต่อไปยังชายแดนจีน ปัจจุบัน จ.นครพนมมีจุดแข็งในการขนส่งสินค้าส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีตัวชี้วัดคือตัวเลขการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 100 เท่าตัว หลังจากเปิดใช้สะพานฯ จากสถิติการค้าพบว่าปี 2554 มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนปี 2555 เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท ปี 2556 เพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท และปี 2557 เพิ่มขึ้นสูงเกือบ 90,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2558 จะมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
ประจวบเหมาะกับ จ.นครพนมได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวชายแดนที่สำคัญของภาคอีสาน ยิ่งจะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนพุ่งสูงขึ้น และล่าสุดทางรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กรมการขนส่งฯ ก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทบริเวณพื้นที่ติดกับสะพานข้ามโขง
นายอดิศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางภาครัฐและภาคเอกชนนำโดยหอการค้าจังหวัดได้ร่วมกันวางยุทธศาสตร์เชิงรุกในการเดินหน้ากำหนดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เขต อ.เมืองนครพนม 10 ตำบล และ อ.ท่าอุเทน 3 ตำบล พัฒนาพื้นที่รองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจการค้า เริ่มจากพัฒนาพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต เนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนให้นักลงทุนมาเช่าประกอบกิจการส่งออกนำเข้าสินค้า ซึ่งจะมีการดูแลสิทธิประโยชน์ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ให้มากที่สุด มุ่งเน้นการส่งเสริมสินค้าการเกษตรเป็นหลัก
โดยกำหนดกลุ่มกิจการเป้าหมายไว้ถึง 13 กลุ่ม ที่สำคัญทางจังหวัดนครพนมยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าภาคการเกษตรเป็นหลักเพื่อยกระดับให้มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมภาคการเกษตรครบวงจร ที่จะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่
เนื่องจากปัจจุบันพบว่าสินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกผ่านชายแดน จ.นครพนม ไปยังลาว เวียดนาม และจีน คือผลไม้ตามฤดูกาล อาทิ ลิ้นจี่ ซึ่งจะต้องมาวางแนวทางให้ นครพนมมีตลาดสินค้าการเกษตรปลอดภัยที่เชื่อมไปยังภูมิภาคอินโดจีน
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2559 หลังประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อว่าจะส่งผลดีให้ จ.นครพนมเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มนักลงทุน และเชื่อมั่นว่าภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปีนครพนมจะเป็นเมืองเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่สำคัญของภาคอีสาน เชื่อมโยงการค้าไปยังลาว เวียดนาม และจีน อย่างแน่นอน
ด้านนายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ประเด็นหนึ่งที่หอการค้ามองคือตลาดจีนซึ่งใหญ่มาก และรัฐบาลจีนได้มีนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินสำหรับพ่อค้ารายย่อยรายละ 5 แสนบาทแบบให้เปล่าเพื่อเข้ามาค้าขายซื้อสินค้าทุกชนิดจากประเทศไทย
โดยเฉพาะในภาคอีสานกลับประเทศจีน เช่น ข้าว ผลไม้ ฯลฯ ลักษณะซื้อดะในรูปแบบกองทัพมดพ่อค้าจีน ซึ่งส่งผลดีต่อ จ.นครพนม ที่จะได้รัอานิสงส์จากการเข้ามาแวะพัก ใช้จ่าย ทำให้เงินสะพัดในตลาดเพิ่มขึ้น สถานที่พักรับรองในนครพนมเองขณะนี้ถือว่าเพียงพอ เพราะนับตั้งแต่เปิดสะพานข้ามโขง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัยทั้งบ้านจัดสรร โรงแรม อพาร์ตเมนต์ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มูลค่าลงทุนนับพันล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในพื้นที่เอง ทั้งที่พักโรงแรมหรือร้านอาหารต่างๆ ก็ต้องพัฒนาการให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าชาวจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านภาษา อาหาร ต้องตอบสนองลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มดังกล่าวให้ได้