xs
xsm
sm
md
lg

คค.แจง ICAO ปักธงแดง ตามขั้นตอนเตรียมเชิญตรวจแอร์ไลน์ปลดล็อก SSC ก่อนสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน-อาคม” ควงคู่ยัน ICAO ขึ้นธงแดง บพ.ประเทศไทย เป็นแนวทางปฏิบัติปกติ ครบ 90 วันแก้ไขข้อบกพร่องไม่ได้ต้องประกาศสาธารณะ “อาคม” ยันผลหารือทั้ง ICAO-FAA พอใจการแก้ปัญหา และเห็นความตั้งใจรัฐบาลไทย เผย 9 ก.ย.เทียบเชิญ ICAO ตรวจสอบสายการบิน คาดเสร็จปลดล็อก SSC ได้ก่อนสิ้นปี ด้าน “จรัมพร” ชี้ทางรอดแอร์ไลน์ บพ.ต้องเร่งแก้ไขปลดล็อก SSC ให้ขึ้นธงแดงสั้นที่สุด


วันนี้ (19 มิ.ย.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนางปาริชาต คชรัตน์ รักษาการอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้ร่วมแถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้มีสัญลักษณ์ธงแดงขึ้นที่ชื่อประเทศไทยในเว็บไซต์ของ ICAO เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 ซึ่งทำให้สาธารณะสามารถเข้าถึงเว็บ ICAO และเห็นสัญลักษณ์ธงแดงดังกล่าว หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายอาคม รมช.คมนาคมเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปพบกับประธานคณะมนตรีและเลขาธิการ ICAO และรองผู้ว่าการองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) เมื่อวันที่ 15-18 มิ.ย. ที่ผ่านมา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่ไทยถูกขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงบนเว็บไซต์ของ ICAO ต่อสาธารณะนั้น เนื่องจากไทยยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ภายในกำหนดเวลา ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติของ ICAO ตามเอกสาร DOC 9735 (Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring) โดยจะไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ ต่อสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการทำการบินของประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ข้อมูลสถานะของไทยยังเป็นข้อมูลเดิมที่ประเทศภาคีหรือสมาชิก ICAO และสาธารณะได้รับทราบอยู่แล้ว โดย ICAO ขอให้ไทยดำเนินการแก้ไขตามแผนการแก้ไข (CAP : Collective Action Plan) อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การขึ้นธงแดงที่เห็นกันนั้นความจริง ICAO ขึ้นธงแดงประเทศไทยมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 โดยประเทศสมาชิกเห็นมาตลอด และเมื่อครบ 90 วัน ICAO ได้ประกาศให้สาธารณะเห็นด้วย โดยข้อมูลที่ประกาศเป็นเรื่องเดิมไม่มีอะไรเพิ่มเติม ซึ่งจากการไปพบประธาน ICAO ได้ให้ข้อแนะนำมากมาย โดยเฉพาะการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับอนุมัติอัตราเพิ่ม 48 คน และขั้นตอนการตรวจสอบและออกใบอนุญาตใหม่ให้สายการบินหรือ AOC

“ทั้ง ICAO และ FAA พึงพอใจที่รัฐบาลไทยส่งระดับรัฐมนตรีหารือ แสดงถึงเจตนาและความมุ่งมั่นในการแก้ไขข้อบกพร่อง SSC ซึ่งได้แจ้งว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณการเพิ่มอัตรากำลังให้ บพ.เป็นกรณีพิเศษ การกำหนดแผนแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งประธาน ICAO ระบุว่าแผนแก้ไขข้อบกพร่องมีความชัดเจน ซึ่ง ICAO ได้นำข้อมูลความก้าวหน้าของแผนแก้ไขแจ้งสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ให้รับทราบ โดยยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่ง ICAO เชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน ซึ่ง ICAO เห็นว่าไทยให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ จากที่ไทยส่งระดับรัฐมนตรีไปหารือ ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนที่ติด SSC ทำเลย จึงเป็นสัญญาณที่ดี และจะแก้ SSC ได้” นายอาคมกล่าว

9 ก.ย. เทียบเชิญ ICAO ตรวจสอบสายการบิน คาดเสร็จปลดล็อกก่อนสิ้นปี

นายอาคมกล่าวว่า การแก้ไข SSC แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น แก้ไขตามแผนการแก้ไข (CAP) และการ Re-certification ออกใบรับรองการบิน (AOC) ให้ทั้ง 28 สายการบินใหม่ จากนั้นจะทำหนังสือถึง ICAO วันที่ 9 ก.ย. 58 เพื่อเชิญให้เข้ามาตรวจสอบใหม่ (Re-Audit) ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ หากผ่านเกณฑ์เท่ากับจะปลดล็อก SSC ได้แผนระยะกลางคือการปรับโครงสร้าง บพ. การวางอัตรากำลังในระยะยาว และการติดตั้งระบบไอทีสารสนเทศ เพื่อการบริหารและติดตามคุณภาพมาตรฐานของสายการบิน แผนระยะยาว การวางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งด้านนโยบายและการบริหาร การกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม อยากจะขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน การแก้ SSC เป็นปัญหาของประเทศที่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งยังมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (ฮับ) และอาเซียนจะเปิด AEC ปลายปี 2558 โดยยืนยันสายการบินของไทยยังทำการบินได้ตามปกติ ยกเว้นการเพิ่มเส้นทางหรือเพิ่มเที่ยวบิน

ส่วนการหารือกับ FAA นั้น ได้ให้ข้อมูลและความมั่นใจในการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลได้ใช้ประโยชน์ 3 ท่าอากาศยาน คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสาร โดยความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินไทย โดย FAA เข้าใจตรงกันว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้าใจถึงข้อจำกัดที่ ICAO ตรวจพบปัญหา เพราะการเติบโตที่รวดเร็วกับระบบการกำกับดูแลไม่สอดคล้องกัน และยังมีปัญหานโยบายเดิมที่จำกัดการเพิ่มอัตรากำลังของ บพ.ด้วยทำให้การกำกับดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ ทาง FAA ได้รับทราบความคืบหน้าแผนแก้ไขข้อบกพร่องและจะติดตามข้อมูลของ ICAO โดย FAA แจ้งว่าข้อบกพร่องของไทยดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจพิจารณาระดับ Category ของไทย โดยจะพิจารณาจากการตรวจสอบตามโครงการ IASA ของ FAA เท่านั้น ขณะเดียวกัน กรมการบินพลเรือนของสหรัฐฯ (FAA) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยในวันที่ 13-17 ก.ค.นี้

นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไข SSC กล่าวว่า ได้กำหนดแผนแก้ SSC ในส่วนของการตรวจสอบมาตรฐานสายการบิน โดยการปรับปรุงคู่มือในการตรวจสอบให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO จะแล้วเสร็จและแจ้งให้สายการบินทราบเร็วๆ นี้ จากนั้นเป็นขั้นตอนการฝึกอบรม โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ อะคาเดมี เข้ามาช่วยช่วงวันที่ 30 มิ.ย.-10 ก.ค. และเริ่มกระบวนการตรวจสอบ หรือ Re-certification เพื่อออกใบรับรอง AOC ได้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. แล้วเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ รวมระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือนตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะจัดทีมออกเป็น 5 ชุด แบ่งสายการบิน 28 สายเข้ารับการตรวจสอบใหม่เป็น 4 กลุ่ม และอีก 1 ทีมจะเป็นชุดสนับสนุน ส่วนการตรวจสอบสายการบินขนส่งสินค้าอันตรายจะมี 5 ชุดเช่นกัน ซึ่งกลุ่มแรกจะเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่และมีจำนวนที่นั่งมาก เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย และนกสกู๊ต

การบินไทยจี้ บพ.เร่งแก้ไขปลดล็อก SSC

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย กล่าวว่า การที่ ICAO มีสัญลักษณ์ธงแดงปรากฏที่ชื่อประเทศไทยในเว็บไซต์ของ ICAO ซึ่งในวงการการบินรับทราบตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.แล้ว แสดงว่ากรมการบินพลเรือนของประเทศไทยยังมีการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยที่ยังไม่เพียงพอตามมาตรฐานของ ICAO แต่ไม่ได้รวมถึงการบริการของสายการบิน เครื่องบิน และสนามบินของไทยมีข้อบกพร่องไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ส่วนการเปิดต่อสาธารณะนั้นทำให้แต่ละประเทศจะต้องกำกับดูแลสายการบินที่บินเข้าไปอย่างเข้มงวด ซึ่งการบินไทยได้รับผลกระทบ คือเมื่อทำการบินเข้าไปยังประเทศต่างๆ จะถูกตรวจสอบ (Ramp Inspection, Station Audit and Base Audit) ถี่ขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2558 กว่า 50 ครั้ง จากปกติที่จะถูกสุ่มตรวจเฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งผลการตรวจการบินไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ดีมาก ถือเป็นสถิติที่ดีที่จะไปชี้แจงต่อ บพ.หลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยุโรป ออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในขณะนี้คือ เมื่อสาธารณะเห็นธงแดงของประเทศไทย การเข้มงวดของแต่ละประเทศยังคงเป็นเหมือนเดิม ซึ่งสายการบินยังคงมีความเสี่ยง จึงต้องการขอร้องภาครัฐให้เร่งแก้ไข SSC เพื่อปลดธงแดงโดยเร็วที่สุด จะเป็นทางรอดที่ดีของสายการบิน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ สายการบินไม่สามารถขยายเส้นทาง หรือเพิ่มเที่ยวบิน หรือทำการบินแบบเช่าเหมาลำได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจมากนักพอบริหารได้ ไม่ต่างกับวิกฤตกรณีการระบาดของเมอร์ส หรือซาร์ส แต่อยากให้คุมในระดับนี้ไม่ให้หนักมากกว่านี้ โดยในเอเชียระดับปัญหายังพอรับได้
กำลังโหลดความคิดเห็น