ครม.ไฟเขียว กทท. ลงทุนกว่า 1,864 ล้าน ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ที่แหลมฉบัง รองรับสินค้า 3 แสนตู้ต่อปี ด้าน กทท.เผยผลประกอบการ มี.ค. 58 สินค้าผ่าน 5 ท่าเรือหลักเพิ่มขึ้นกว่า 100% ตู้สินค้าเพิ่ม 141.85% เหตุเรือน้ำมันถ่ายลำจากประเทศมาเลเซียและเรือ Off Shore Supply Vessel เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดย กทท.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงบริหารและประกอบการโดยใช้งบประมาณลงทุนรวม 1,864.19 ล้านบาท และเนื่องจากเป็นโครงการให้บริการอยู่ภายในเขตท่าเรือและเป็นกิจกรรมท่าเรือชายฝั่ง จึงไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติกรอบค่าภาระขั้นต่ำในอัตรา 1,545 บาท ประกอบด้วย อัตราค่าภาระยกขนตู้สินค้าในอัตราขั้นต่ำ 715 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ และอัตราค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าระหว่างท่าในอัตราขั้นต่ำ 830 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ และอัตราขั้นสูง 3,180 บาท ประกอบด้วย อัตราค่าภาระยกขนตู้สินค้าในอัตราขั้นสูง 2,010 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพและอัตราค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าระหว่างท่าในอัตราขั้นสูง 1,170 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ และสามารถปรับลดอัตราค่าภาระในการให้บริการลงได้ไม่เกิน 20% ของอัตราค่าภาระขั้นต่ำที่กำหนด
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ตั้งอยู่บริเวณแอ่งจอดเรือที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างท่าเทียบเรือ A1 และ A0 พื้นที่ 43 ไร่ ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน (2558-2559) ให้บริการท่าเรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ รองรับเรือชายฝั่งขนาดระวางบรรทุก 3,000 เดทเวทตัน ยกขนตู้สินค้าคราวละ 200 เดทเวทตัน และขนาด 1,000 เดทเวทตัน ยกขนตู้สินค้าคราวละ 100 เดทเวทตันได้อย่างละ 1 ลำพร้อมกัน รวมทั้งติดตั้งปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นจัดเรียงตู้สินค้าในลานกองเก็บตู้สินค้า เพื่อให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้สูงถึง 300,000 ทีอียูต่อปี
ด้านการท่าเรือฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในเดือน มี.ค. 2558 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการให้บริการเรือเพิ่มขึ้น 56.00% สินค้าเพิ่มขึ้น 101.37% และตู้สินค้าผ่านเพิ่มขึ้น 141.85% เนื่องจากเรือน้ำมันถ่ายลำจากประเทศมาเลเซียและเรือ Off Shore Supply Vessel เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น
ส่วนผลดำเนินงานในรอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-มีนาคม 2558) ท่าเรือกรุงเทพมีเรือเทียบท่า 1,630 เที่ยว เพิ่มขึ้น 2.32% สินค้าผ่านท่า 11.036 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.05% และตู้สินค้าผ่านท่า (รวมตู้เปล่า) 0.790 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 6.07% ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือเทียบท่า 3,004 เที่ยว ลดลง 0.53% สินค้าผ่านท่า 36.135 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.23% และตู้สินค้าผ่านท่า 3.328 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 7.53% ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน มีเรือเทียบท่า 5,789 เที่ยว เพิ่มขึ้น 34.41% โดยเป็นเรือ สปป.ลาวมากที่สุด ตู้สินค้าผ่านท่า 8,354 ทีอียู เพิ่มขึ้น 64.45% และสินค้าผ่านท่า 0.248 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 27.87% เนื่องจากมีปริมาณการขนส่งสินค้าประเภทอาหาร วัตถุดิบ และน้ำมันเชื้อเพลิงไปมณฑลยูนนานมากขึ้น
ท่าเรือเชียงของ มีเรือเทียบท่า 269 เที่ยว เพิ่มขึ้น 94.93% สินค้าผ่านท่า 0.040 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 96.30% เนื่องจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามามากขึ้น ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 167 เที่ยว ลดลง 18.54% ตู้สินค้าผ่านท่า 1,553 ทีอียู เพิ่มขึ้น 77.28% และสินค้าผ่านท่า 0.103 ล้านตัน ลดลง 27.38%