xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” สั่งปรับนโยบายเปิดเสรีการบิน เผยเที่ยวบินล้นขีดหวั่นกระทบปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ทบทวนนโยบายเปิดเสรีการบินแบบไร้ข้อจำกัด หลังน่านฟ้าไทยแน่น หวั่นกระทบความปลอดภัยด้านการบิน โดยให้สรุปรูปแบบใน ก.ย.นี้ “ประจิน” ยันเดินหน้าสุวรรณภูมิเฟส 2 รันเวย์ที่ 3 มุ่งเป้าฮับการบิน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ว่า ได้เร่งรัดแผนการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) และศูนย์กลางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานในอาเซียน ซึ่งได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เสร็จเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 แล้ว พร้อมกันนี้ได่เร่งรัดการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป รวมทั้งผลักดันให้ฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีความเข้มแข็งมากขึ้น

โดยในขณะนี้พบว่า นโยบายเปิดเสรีการบิน (Open Sky) แบบไร้ข้อจำกัด ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านการบิน เนื่องจากห้วงอากาศของไทยมีขีดจำกัด ดังนั้นจะมีการปรับนโยบายเป็นเปิดเสรีแบบมีข้อจำกัด หรือมีเงื่อนไข ( Open Sky under condition) โดยจะพิจารณาถึงขีดความสามารถที่แท้จริงในการรองรับปริมาณเที่ยวบินของน่านฟ้าไทยและขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารของแต่ละสนามบิน โดยจะสรุปภายในเดือน ก.ย.ปีนี้ จากนั้นจะสามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาสนามบินหลักๆ ที่มีความแออัดมากในขณะนี้ เช่น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต

“ไทยมีนโยบายเปิดเสรีการบินมานานแล้ว และขณะนี้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้นจนเกินขีดความสามารถที่น่านฟ้าไทยจะรับได้ เปรียบเหมือนน้ำที่ล้นแก้ว ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย เราก่อสร้างเส้นทางบินในอากาศ เหมือนสร้างถนนตอนนี้มี 8 เลน รถที่วิ่งก็แน่นแล้ว ขยายไม่ได้แล้วติดหมดทั้งซ้ายทั้งขวา ดังนั้นก็ต้องหาวิธีการอื่นคือเปิดเสรีให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง เพิ่มการกำกับดูแลโดยกำหนดความจุของห้วงอากาศว่าสามารถรองรับได้เท่าไรถึงจะไม่เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย แต่ละสนามบินรองรับปริมาณเที่ยวบินได้เท่าไรและปรับตารางบินในแต่ละช่วงเวลาหรือ Slot เพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย เช่น ช่วงเวลา 7 โมง รับได้ 100 เที่ยวบินแต่ต้องการเข้ามา 200 เที่ยวบินแบบนี้ ก็รับไม่ได้ มีความเสี่ยง นอกจากนี้จะต้องนำใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารการจราจรทางอากาศและภาคพื้นดิน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

พร้อมกันนี้จะเร่งรัดการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ที่ 3) สนามบินสุวรรณภูมิในส่วนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) ส่วนการขยายขีดความสามารถภายใต้โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 จะเดินหน้าต่อ ขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กำลังพิจารณาปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างลงจาก 6.2 หมื่นล้านบาท ส่วนอาคารผู้โดยสารใหม่ซึ่งเพิ่มเติมจากเฟส 2 จะต้องทำแผนที่ชัดเจนต่อไป

ส่วนการพัฒนาท่าเรือ มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำในภูมิภาคเช่นกัน โดยจะเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในปี 2565, โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับ ICD ลาดกระบัง จะต้องเริ่มต้นการดำเนินโครงการในต้นปี 2559 ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน

ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทบทวนนโยบายเปิดเสรีการบินไม่เกี่ยวกับกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบ กรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ความต้องการในการเดินทางโดยเครื่องบินของนักท่องเที่ยวและสายการบินต้นทุนต่ำมีการเติบโตสูงมาก ซึ่งน่านฟ้ามี 2 ส่วน คือ ในความรับผิดชอบของทหาร เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงและน่านฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยปัญหาคือ เที่ยวบินจะแน่นในบางช่วงเวลา และช่วงนี้สายการบินจากจีนขอทำการบินเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากเปิดเสรีแบบไร้ข้อจำกัดต่อไป จะมีปัญหาหนักขึ้น จึงต้องจัดระบบปริมาณเที่ยวบินที่ต้องการเข้าประเทศไทย และความสามารถในการรองรับเที่ยวบินให้สัมพันธ์กับเวลาอย่างเป็นระบบ

“ตามหลักคือต้องมีการกำหนดลิมิตจำนวนเที่ยวบิน หรือจุดบิน และเกลี่ยเที่ยวบินไปในทุกๆ ช่วงเวลา ไม่ให้หนานแน่นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยขณะนี้เที่ยวบินจะแน่ช่วง 05.00-10.00 น. ช่วง 13.00-15.00 น. ช่วง 18.00-01.00 น. ส่วนที่ยังมีเที่ยวบินไม่มากนัก คือ ช่วง 10.00-13.00 น. ช่วง 15.00-17.00 น. และช่วง 02.00-05.00 น. จึงต้องเจรจาต่อรองเพื่อจัดเที่ยวบินลงในช่วงเวลาที่ยังไม่แน่นมาก” นายวรเดชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น