xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” อัดงบลงทุนกว่า 1.99 ล้านล้านบาท รื้อระบบคมนาคมใหม่หมด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” พลิกระบบโครงสร้างพื้นฐาน อัดงบลงทุนกว่า 1.99 ล้านล้านบาท เร่งเดินเครื่องคมนาคมทั้งระบบใหม่หมด เผยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระยะยาว 8 ปี ตั้งแต่ 2558-2565 และแผนเร่งด่วนปี 2558



พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ “นโยบายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในปีนี้ และปีหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะดำเนินก่อสร้างรถไฟทางคู่จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 880 กิโลเมตร ได้แก่

1.เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท
2.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท
3.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท
4.เส้นทางมาบกระเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท
5.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท
6.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงิน 9,437 ล้านบาท

ซึ่งในอนาคตเส้นทางดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายใหม เชื่อมโยงจากเมืองเฉิงตู ของประเทศจีน ผ่านมาเวียดนาม สู่ประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทย ออกไปสู่ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินในการลงทุนโครงการดังกล่าวกว่า 83,000 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2559 เป็นต้นไป มีแผนที่จะพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งทางรางในส่วนของโครงการที่จะพัฒนาระบบรางความเร็วสูงร่วมกับประเทศญี่ปุ่นในเส้น 3 ทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน รวมถึงเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง เป็นระยะทางอีกกว่า 1,600 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มวงเงินขึ้นอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงสร้างคมนาคมอื่นจะมีการพัฒนาให้มีความทันสมัย และมีความปลอดภัยเพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะต้องเพิ่มจำนวนรันเวย์รองรับเที่ยวบินที่้จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และซ่อมแซมรันเวย์เก่าที่ใช้งานมานาน ตลอดจนหลุมจอด และตัวอาคาร ขณะที่ในส่วนของสนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา ก็จะมีการปรับปรุงใหม่ให้มีความกว้างขวางทันสมัย สะดวกสบาย เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศ และต่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนเที่ยวต่อวันมากขึ้น โดยจะมีใช้ระบบขนส่งทางรางแบบแอร์พอร์ตลิงก์ เชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา เข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกัน สนามบินพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศภายใต้การดูแลของท่าอากาศยาน กรมการบินพลเรือน ตลอดถึงสนามบินของเอกชน เช่น บางกอกแอร์เวย์ส ก็จะต้องมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย ปลอดภัย และอาจพัฒนาเพิ่มระดับขึ้นเป็นสนามบินนานาชาติหากมีศักยภาพผ่านมาตรฐานการบินสากลระหว่างประเทศ
 
ในส่วนของระบบการคมนาคมในเมืองที่จะขยายรถไฟฟ้า MRT และ BTS เชื่อมโยงจากเขตชานเมืองเข้ามาสู่ตัวเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมาทำงาน และลดมลพิษ ตลอดจนถึงปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพ และสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งทางน้ำที่จะปรับปรุงท่าเรือเจ้าพระยาใหม่อีก 29 ท่าเรือ เพื่อให้มีความปลอดภัยทันสมัย

ขณะที่ในส่วนของรถเมล์ ขสมก.จะมีการทยอยยกเลิกจากรถเมล์ร้อน เป็นรถเมล์แอร์ทั้งหมด และจากระบบเชื้อเพลิงเก่าที่ใช้ NGV ให้เป็นรถเมล์พลังงานไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะยกเลิกเส้นทางเดินรถเดิมที่มีอยู่ และจะพิจารณาปรับปรุงเส้นทางการเดินรถใหม่ให้มีความเหมาะสมตามความต้องการของประชาชนผู้โดยสารที่จะใช้บริการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้าร่วมสัมปทานเส้นทางเดินรถด้วย เพื่อให้มีการแข่งขันกันทั้งทางด้านคุณภาพ และบริการควบคู่ไปกับความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยจะพิจารณาควบคุมราคาให้เหมาะสมต่อต้นทุนที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น