ส่งออกเดือน เม.ย.ติดลบ 1.70% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปีนี้ แต่มีสัญญาณดีขึ้นติดลบน้อยลง คาดเดือนหน้าเห็นแววส่งออกกลับมาเป็นบวก หลังปัจจัยบวกเริ่มเห็นชัด คู่ค้าเริ่มนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เผยเฉพาะสหรัฐฯ ดีขึ้นมาก ตลาด CLMV ก็เพิ่ม จีนกลับมาบวกในรอบปี และยังได้อานิสงส์บาทอ่อน น้ำมันเริ่มขยับ
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. 2558 มีมูลค่า 16,900.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.70% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบปีนี้ ส่วนมูลค่าที่ส่งออกได้น้อยและต่ำสุดในรอบ 3 ปี เพราะเดือน เม.ย.มีวันหยุดราชการมาก ไม่ได้มีปัจจัยอะไร ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,423.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.84% โดยไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 522.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
“การส่งออกในเดือน เม.ย.มีอัตราการขยายติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับ 4 เดือนก่อนหน้านี้ โดยเดือน ม.ค.ติดลบ 3.46% ก.พ.ลบ 6.15% และ มี.ค.ลบ 4.45% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทิศทางการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ อาจจะเป็นเดือนหน้าหรือเดือนถัดไป เพราะสัญญาณต่างๆ เริ่มดีขึ้น”
สำหรับการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 70,265.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.99% การนำเข้ามีมูลค่า 69,359.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.53% โดยได้ดุลการค้ามูลค่า 905.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสมเกียรติกล่าวว่า ปัจจัยที่คาดว่าจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น มาจากการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยสหรัฐฯ ยังคงมีการนำเข้าต่อเนื่อง และในเดือน เม.ย.การส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.4% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 กลุ่มตลาด CLMV ขยายตัว 3.5% โดยเฉพาะกัมพูชา และเวียดนาม จากการสนับสนุนการค้าชายแดน และตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัว 1.1% เป็นบวกครั้งแรกในรอบปี หลังจากหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) ยังลดลง 3% และ 3.5% เพราะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และยังมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและยูโรอ่อนค่า ทำให้คำสั่งซื้อชะลอตัว แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากการใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะช่วยหนุนให้การส่งออกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและแข่งขันได้มากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรหลายๆ รายการก็เริ่มมีทิศทางราคาที่ดีขึ้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า รายละเอียดการส่งออกในเดือน เม.ย. พบว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรยังหดตัวตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยลดลงถึง 3.9% สินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ยางพาราลด 25.9% ทูน่ากระป๋องลด 10.6% ข้าวลด 2.9% แต่ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 5.4%, 16% , 18.5% และ 41.1% ตามลำดับ
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ลดลงเพียง 0.3% สินค้าที่ลดลงส่วนใหญ่ยังคงเป็นน้ำมันที่ลดลง 16.8% และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทั้งเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ที่ลดลง 22.2% และ 13% โดยแผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้น 20%, 9%, 8.5% และ 2.3% ตามลำดับ ซึ่งรวมถึงทองคำที่เดือนนี้ส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึง 133% หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนำเข้ามาเพื่อเก็งกำไร