ประเดิมส่งออกไทยเดือน ม.ค. 58 หดตัวสูงถึง 3.46% เหตุส่งออกสินค้าเกษตรยอดตก สินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันขายได้ลดลง ด้านตลาดญี่ปุ่น อียู ตกหมด เว้นสหรัฐฯ ดีขึ้น ส่วนจีนหนัก ลดถึง 19.7% ยันคงเป้า 4% ไว้ทำงาน เตรียมนัดหารือเอกชน ทูตพาณิชย์ เดือน มี.ค. ประเมินทิศทางและปรับแผนส่งออก
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือน ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 17,249 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.46% การนำเข้ามีมูลค่า 17,705 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.33% โดยขาดดุลการค้า 457 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่การส่งออกหดตัวเป็นไปตามทิศทางการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ลดลงถึง 13% และยังเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันส่งออกได้ลดลง ทั้งน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก
โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกได้ลดลง เช่น ข้าว ลดลง 13% ยางพารา ลดลง 40.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลง 12.1% อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ลดลง 9.7% น้ำตาลลดลง 12.6%
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมยังมีทิศทางส่งออกโตขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 0.6% สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 21.2% ยานพาหนะและส่วนประกอบ เพิ่ม 11.7% เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่ม 3.7% เป็นต้น
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่าตลาดหลักกลับมาหดตัว โดยญี่ปุ่นลดลง 7.5% สหภาพยุโรป (อียู) ลดลง 5% จากการที่เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศฟื้นตัวช้า และค่าเงินเยนและยูโรอ่อนทำให้ยอดสั่งซื้อชะลอตัว แต่การส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดจีนลดลงมากถึง 19.7% เพราะจีนชะลอการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่อยากให้โตเร็ว และหันมาพึ่งพาสินค้าในประเทศมากขึ้น ขณะที่ไทยส่งออกยางพาราไปจีนได้ลดลง รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ขณะที่อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลดลง 4.8% อาเซียนใหม่ เพิ่มขึ้น 6.8% ส่วนตะวันออกกลาง ลดลง 8.3% เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้กำลังซื้อลดลง ทั้งนี้ รัสเซีย และแอฟริกา ก็มีการส่งออกที่ลดลงด้วย
นางจันทิรากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกในปี 2558 ที่ 4% เพราะได้ตั้งไว้เป็นเป้าในการทำงาน ขณะนี้ผ่านมาเพียงแค่ 1 เดือน ยังบอกอะไรไม่ได้ ยังมีเวลาทำงานอีก 11 เดือน ซึ่งจะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยในเดือน มี.ค. 2558 จะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชน และวันที่ 16 มี.ค. 2558 จะเชิญทูตพาณิชย์จากประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมประชุมด้วย เพื่อทบทวนสถานการณ์ตลาดและปรับแผนการส่งออก
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย ยังคงเป็นปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ