เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานตัวเลขขาดดุลการค้าในปี 2014 สูงถึง 109,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการพึ่งพาพลังงานนำเข้าหลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงกว่าครึ่งจะช่วยให้ยอดขาดดุลการค้าของแดนปลาดิบลดลง
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า มูลค่าการขาดดุลที่สูงถึง 12.78 ล้านล้านเยนเพิ่มขึ้นจากสถิติปี 2013 ราว 11.4% และสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1979
ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสัดส่วนพลังงานที่ขาดหายไปจากผลพวงของอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เคยตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่นถึง 2 ใน 3 ต้องถูกปิดตัวลง
ภาวะเงินเยนอ่อนค่ายิ่งทำให้โตเกียวต้องจ่ายเงินสูงขึ้นในการซื้อพลังงานผ่านสกุลเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ยอดขาดดุลการค้าเฉพาะเดือนธันวาคมที่ผ่านมาลดลงเกือบครึ่งจากเมื่อ 1 ปีก่อน เหลือเพียง 660,700 แสนล้านเยนตามทิศทางของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวดีเกินคาดถึง 12.9%
สถาบันแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่น “มีแนวโน้มลดลงอีก เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงยังไม่ได้สะท้อนราคาพลังงานที่ถูกลง”
“ราคาพลังงานที่ถูกลงอาจช่วยให้ญี่ปุ่นกลับมาได้ดุลการค้าระยะสั้นๆ ในอีกไม่กี่เดือนนี้ ก่อนที่ภาวะค่าเงินเยนอ่อนและราคาน้ำมันที่กระเตื้องขึ้นจะฉุดให้ญี่ปุ่นขาดดุลอีกครั้ง”
ราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำลงกว่าครึ่งตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เหลือไม่ถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 5.7% มาอยู่ที่ 85.89 ล้านล้านเยนในปี 2014 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 73.11 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าญี่ปุ่นไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 8.3% ในปี 2014 ส่วนสหรัฐฯ และจีนเพิ่มขึ้น 5.6% และ 6.0% ตามลำดับ
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอุปสงค์จากภายนอกจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” ฮิโรชิ วาตานาเบะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตีส์ ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ประกาศขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว และทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังขาว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” จะได้ผลชะงัดอย่างที่มีกระแสฮือฮาในช่วงแรกๆ หรือไม่
นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจต้องยอมขยายมาตรการรับซื้อสินทรัพย์ ซึ่งไม่ต่างจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ใช้
สัปดาห์ที่แล้ว บีโอเจได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ แต่ยังไม่มีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกมาเพิ่มเติม โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว