เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา (ก.ค.-ก.ย. 2014) หดตัวมากกว่าที่เคยประมาณการกันไว้ ทั้งนี้ตามข้อมูลทบทวนปรับปรุงล่าสุดของทางการซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันจันทร์ (8 ธ.ค.) อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้ก็เป็นการสนับสนุนการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในการชะลอการขึ้นภาษีการขายรอบ 2 ออกไปก่อน ขณะเดียวกัน โพลล่าสุดชี้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ (14) นี้ พรรคลิเบอรัล เดโมเครตติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของเขาจะชนะถล่มทลาย เนื่องจากถึงแม้ประชาชนไม่ได้ชื่นชมผลงานรัฐบาลอะไรนัก แต่ก็ยังคงไม่พอใจฝ่ายค้านมากกว่า
การปรับลดตัวเลขอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ผ่านมาเช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขายรอบแรกเมื่อเดือนเมษายนนั้นรุนแรงกว่าที่คาดไว้ และตอกย้ำความท้าทายของนายกรัฐมนตรีอาเบะ และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในการดึงให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดยืดเยื้อ
ตามตัวเลขที่แถลงโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในวันจันทร์ จีดีพีในไตรมาส 3 ติดลบ 0.5% ย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ประกาศเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนซึ่งระบุว่าหดตัว 0.4% และเนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ก็อยู่ในระดับติดลบ 1.7% จึงเท่ากับว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยในทางทฤษฎี
หากคิดเป็นอัตราต่อปี จีดีพีไตรมาส 3 จะติดลบถึง 1.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมซึ่งหดตัว 1.6%
อาเบะที่ประกาศยุบสภาล่างเพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันอาทิตย์นี้ คาดหวังเอาไว้ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงจะเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อบวกกับการชะลอแผนการขึ้นภาษีการขายระลอกสองที่เดิมกำหนดไว้ปีหน้า จะสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจที่ถอยหลังลงคลองได้อีกครั้ง
นโยบายเศรษฐกิจที่อาเบะนำเอามาใช้ ซึ่งเรียกขานกันว่า “อาเบะโนมิกส์” มีลักษณะเป็นสูตรผสมระหว่างนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีดกับมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อหยุดยั้งเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ในภาวะเงินฝืดมานาน และในช่วงแรกก็ทำท่าประสบความสำเร็จงดงาม โดยสามารถกระตุ้นราคาหุ้นและฉุดค่าเงินเยนให้ต่ำลง ซึ่งรวมแล้วส่งผลดีทั้งต่อภาคครัวเรือนและธุรกิจ ทั้งนี้ถึงแม้จีดีพีติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส แต่ขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตอนนี้ก็ยังใหญ่กว่าตอนที่อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2012 ถึง 1.4%
อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายนส่งผลอย่างรุนแรงต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และบ่อนทำลาย “อาเบะโนมิกส์”
คาดหมายว่าการตัดสินใจของอาเบะในการชะลอการขึ้นภาษีรอบสองเป็น 10% ออกไปจนถึงปี 2017 จะช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เป็นองค์ประกอบถึง 60% ของจีดีพี
กระนั้น ภาวะถดถอยยังคงแสดงให้เห็นว่า นโยบายกระตุ้นของอาเบะไม่เพียงพอเสริมสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังลังเลที่จะขึ้นค่าแรงและใช้จ่ายเงินทุน
เช่นเดียวกับมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ของบีโอเจที่เริ่มต้นในเดือนเมษายนปีที่แล้วและมีการต่อยอดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งอิงกับปัจจัยทางจิตวิทยาในการขับเคลื่อนอัตราเงินเฟ้อให้ถึงเป้าหมาย 2% โดยหากดัชนีตังกังของบีโอเจที่มีกำหนดเปิดเผยกลางเดือนนี้ ออกมาไม่ดีนัก ก็อาจกดดันให้บีโอเจขยายมาตรการกระตุ้นอีกครั้ง โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมีกำหนดประชุมในวันที่ 19 นี้
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะฟื้นการเติบโตในระดับพอประมาณได้ในไตรมาสปัจจุบัน จากสัญญาณที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและธุรกิจกำลังฟื้นตัวจากมาตรการขึ้นภาษี และการส่งออกมีแนวโน้มตกถึงจุดต่ำสุดแล้ว
ขณะเดียวกัน ข่าวร้ายทางเศรษฐกิจล่าสุดไม่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ที่คาดว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงส่วนใหญ่จะเลือกพรรคแอลดีพี ของอาเบะ เนื่องจากถึงแม้ประชาชนไม่ได้ชื่นชมผลงานรัฐบาลอะไรนัก แต่ก็ยังคงไม่พอใจฝ่ายค้านมากกว่า
โพลของหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (8) ระบุว่า แอลดีพีจะกวาดที่นั่งในสภาล่างอันทรงอิทธิพล ในระหว่าง 303-320 ที่นั่ง จากทั้งสภา 475 ที่นั่ง ทั้งนี้หากได้เกินสองในสาม หรือ 317 ที่นั่งขึ้นไป ย่อมหมายความว่าแอลดีพีมีคะแนนเสียงในสภาล่างซึ่งสามารถลบล้างมติของสภาสูง อันจะทำให้อาเบะสามารถผลักดันอาเบะโนมิส์ต่อไป แม้ผู้มีสิทธิออกเสียงมากมายยังไม่รู้สึกว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจก็ตาม
ก่อนที่อาเบะจะยุบสภาล่างในคราวนี้ แอลดีพีเมื่อรวมกับพรรคโคเมอิโตะ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ครองที่นั่งอยู่ 326 ที่นั่ง ทว่าในการเลือกตั้งคราวนี้ เนื่องจากมาตรการปฏิรูปการเลือกตั้ง ทำให้จำนวนที่นั่งในสภาลดน้อยลง 5 ที่นั่ง