xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองทรงตัวระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงระยะเวลา  7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศเคลื่อนไหว “ในกรอบแคบๆ” โดยเคลื่อนไหวสูงสุดระหว่าง 19,000-19,150 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท และต่ำสุดระหว่าง 18,800-18,900 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ประมาณ 32.52-32.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,225.50-1,267.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

     คาดการณ์ว่าระยะสั้นราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า 1,220 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ก็ไม่น่าจะทะลุแนวต้าน 1,265 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ขึ้นไปได้ ส่วนราคาทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,500-19,250 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท แต่ในภาวะปัจจุบัน การเคลื่อนไหวราคาทองคำในตลาดโลกยังคงเคลื่นอไหวตามแรงเก็งกำไรของพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายที่ยังคงแสวงหาผลกำไรจากทองคำ ด้วยการอาศัยจังหวะที่เกิดกระแสข่าวต่างๆ โดยเฉพาะข่าวเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ ในการสร้างกระแส โดยเฉพาะกรณีที่ว่าราคาทองคำจะอ่อนตัวลงเหลือ 1,000-1,080 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แม้แต่เมืองไทยเองก็มี “กูรู” ที่พยายามออกมา “ฟันธง” ว่า ราคาทองในประเทศจะเหลือ 18,400 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท จึงอยากเตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวัง ฟังหูไว้หู เพราะปัจจุบัน “กูรู” มีพัฒนาการในการสร้างกระแส คือซื้อหน้าโฆษณาสิ่งพิมพ์ และเวลาช่วงบ่ายของสถานีโทรทัศน์เพื่อสร้างกระแสว่า “สื่อ” เชิญให้ตนไปแสดงทรรศนะ สร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และหาความรู้ให้ตัวเองจะทำให้สามารถลงทุนได้อย่างปลอดภัยที่สุด
 
ราคาทองคำคงไม่เคลื่อนไหวมากเพราะนักลงทุนกำลังรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม ทั้งนี้ หากรวมวงเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้ในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทั้ง 3 ครั้ง มีมูลค่าสูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะยุติมาตรการดังกล่าวลง จนก่อให้เกิดความวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังเตรียมนำมาตรการด้านอัตราดอกเบี้ยเข้ามาควบคุมทิศทางเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้

  อย่างไรก็ตาม มีผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ในหลายมลรัฐ ออกมาแสดงความเห็นว่า เฟดควรชะลอการยุติมาตรการ QE ออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจว่ากำลังฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้นักวิเคราะห์ต่างจับตาว่า จะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ มาตรการ QE หรือจะยังคงมาตรการ QE ที่ระดับ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นจริงๆ 

เนื่องจากเศรษฐกิจฝากฝั่งยูโรโซนกำลังประสบภาวะเงินฝืด และเศรษฐกิจชะลอตัว จนธนาคารกลางยุโรปต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำสุด รวมถึงใช้มาตรการ QE  และหากหันกลับมาทางฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นเองก็ยังคงใช้มาตรการ QE กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ต่างกัน 2 แนวทางคือ 1.เฟดตัดสินใจยุติมาตรการ QE แต่จะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป  และ 2.เฟดจะพิจารณาเพิ่มเม็ดเงินอัดฉีดเข้ามาในมาตรการ QE อีกครั้ง  ทำให้ราคาทองแกว่งตัวผันผวน สวนทางกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ตลอดเวลา  และหากการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณายุติมาตรการ QE จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีพันธบัตรอยู่ในมือสูงถึง 4.48 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการควบคุมความต้องการขายสินทรัพย์ในตลาดได้  รวมถึงยกระดับเงินเฟ้อในประเทศด้วยการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปี

 ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจนถึงกลางปี 2558 แต่หากเฟดเปลี่ยนท่าทีโดยพร้อมนำอัตราดอกเบี้ยมากำหนดกลไกเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระยะแรกเท่านั้น เพราะหากพิจารณาตามความเป็นจริง นางเจเน็ต เยเลน ประธานเฟด ก็ส่งซิกเตือนมาเป็นระยะทุกครั้งของการประชุม

ฉบับนี้จะอธิบายถึงกรณีที่ธนาคารจีน เตรียมอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารสูงถึง 2 แสนล้านหยวนเพื่อธนาคารเหล่านั้นมีสภาพคล่อง และนำไปปล่อยสินเชื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังจะชะลอตัว โดยเป็นการอัดฉีดผ่านธนาคารประจำภูมิภาค และธนาคารแห่งชาติขนาดใหญ่ 20 ธนาคาร อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการสินค้าทางฝั่งยุโรปลดลง อาจทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนไม่เป็นไปตามเป้าก็ได้

     มีแนวโน้มว่าภาวะเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดความกังวลอย่างมากว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดทั่วโลกโดยหากให้ไล่เรียงกัน ณ เดือนกันยายน จีน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.6%   อินเดียอยู่ที่ 2.38%  ส่วนอังกฤษ เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2%

  ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะเงินฝืดเป็นปัญหาที่แก้ไขยากกว่าภาวะเงินเฟ้อ  ขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องเผชิญภาวะเงินฝืดมานานกว่า 10 ปี ส่งผลให้ประชาชนในประเทศชะลอการบริโภคลงอย่างต่อเนื่อง  เพราะคิดว่าราคาสินค้าต้องปรับลดราคาลง ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง กดภาคการผลิตให้ต้องลดการผลิตลงตามมาโดยตลอด ซึ่งก็กระทบยาวมาถึงอัตราการจ้างงานในประเทศ ระดับรายได้ของประชากร จนกลายเป็นวงจรวกกลับไปที่การบริโภคในประเทศ

       แววของวิกฤตเงินฝืดที่เห็นชัดเจนคือ การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของกลุ่มยูโรโซน ณ สิ้นเดือนกันยายน ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.3% ทำให้ธนาคารกลางยุโรปมีความพยายามที่จะปรับนโยบายทางการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจนติดลบ  ตามมาด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนอีกต่อหนึ่ง

  ล่าสุด ก็ประกาศเข้าซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชน  ผู้เขียนกำลังกังวลว่า ภาวะเงินฝืดครั้งนี้จะเป็นชนวนนำไปสู่ “สงครามค่าเงิน” ใช้เป็นโอกาสเพิ่มอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศตนเอง เพื่อผลักดันประเทศให้หลุดออกจากภาวะเงินฝืด เพราะนั่นเท่ากับว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกจะผันผวนจากความจริงที่ควรเป็น

ขอวิเคราะห์ต่อไปที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ประสบปัญหาการขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2014 โดยตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าถึง 5.4271 ล้านล้านเยน ขยายตัวถึง 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2013 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์  ส่วนยอดการส่งออกอยู่ที่ 41.324 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2013 สาเหตุการขาดดุลการค้าเกิดจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 2011 และการนำเข้าโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด

      ส่วนสาเหตุที่เงินเยนอ่อนค่าลง เกิดจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE ทำให้ปริมาณเงินเยนในระบบมีมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมการค้าของเอกชนญี่ปุ่น กับจีนที่ค้าขายด้วยเงินหยวน เพราะเมื่อแลกเงินหยวน กลับมาเป็นเงินเยนแล้วค่าเงินจะหายไปทันที 30% และที่สำคัญในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้าขายระหว่างจีน กับญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 522 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นในจีนแบกรับภาระสูงขึ้น รวมถึงกระทบต่ออัตราค่าจ้างแรงงานด้วย ทำให้บริษัทญี่ปุ่นในจีนเตรียมพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปที่อื่นเพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวร

ประเทศยูเครน ยังคงมีการสู่รบระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับกบฏแบ่งแยกดินแดนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย กับยูเครนยุติลง  ซึ่งแต่เดิมยูเครน ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และปัจจุบันก็ยังคงค้างชำระค่าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันให้แก่รัสเซียอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ในอนาคตยูเครนอาจประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน  ดังนั้น การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปมีการเตรียมให้ความช่วยเหลือยูเครนด้วยการปล่อยสินเชื่อระยะสั้น ให้ยูเครนกู้ไปชำระค่าก๊าซธรรมชาติให้แก่รัสเซีย โดยคาดว่า จะมีการส่งมอบเงินให้แก่รัสเซียในเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคมนี้  นั่นหมายความว่า สหภาพยุโรปจะหมดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ 

    สาเหตุที่สหภาพยุโรปต้องให้ความช่วยเหลือยูเครนในครั้งนี้ เป็นเพราะหลายประเทศในทวีปยุโรป ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และท่อส่งผ่านก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย มาสหภาพยุโรปก็อยู่ในยูเครน  หากรัสเซียยุติการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับยูเครน อาจทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปขาดเสถียรภาพด้านพลังงาน เนื่องจากตั้งแต่เกิดสงคราม บริษัทเอกชนหลายบริษัทในรัสเซียได้ยุติการส่งก๊าซธรรมชาติให้ยูเครน

การเลือกตั้งภายในยูเครนตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่พรรคการเมืองของรัฐบาลยูเครนจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แม้จะไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว แต่ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายเดียวกัน  เนื่องจากพรรคการเมืองรัฐบาลมีนโยบยสนับสนุนสหภาพยุโรปยุติความขัดแย้งกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ถือเป็นการผ่อนคลายความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น