xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกปี 57 เข็นไม่ขึ้นติดลบ 0.41% “พาณิชย์” ห่วงเป้าปี 58 ที่ 4% หลังปัจจัยเสี่ยงเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส่งออก ธ.ค.เพิ่มขึ้น 1.9% แต่ยังไม่มากพอดันเป้าทั้งปีเป็นบวกได้ ยังคงติดลบ 0.41% ขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ส่วนปี 58 ยังคงเป้า 4% พร้อมจับตาปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด ทั้งการปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก คู่ค้า การใช้มาตรการ QE ราคาสินค้าเกษตรและน้ำมัน ก่อนประเมินภาพรวมส่งออกอีกครั้งช่วงสิ้นไตรมาสแรก

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค. 2557 มีมูลค่า 18,790 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.90% แต่ยังไม่สามารถทำให้การส่งออกในภาพรวมของปี 2557 กลับมาเป็นบวกได้ โดยการส่งออกทั้งปี 2557 มีมูลค่ารวม 227,574 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง 0.41% ขณะที่การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2557 มีมูลค่า 17,201 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.74% ส่วนยอดรวมนำเข้าทั้งปี 227,952 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.97% โดยเดือน ธ.ค. 2557 กลับมาเกินดุลการค้า 1,589 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ยอดขาดทุนทั้งปีลดลงเหลือ 379 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกรวมในปี 2557 ที่ขยายตัวติดลบ 0.41% นั้น เป็นการติดต่อต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 หลังจากปี 2556 การส่งออกได้ขยายตัวติดลบ 0.32%

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน ธ.ค. 2557 กลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้น 0.8% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว เพิ่มขึ้น 67% น้ำตาลเพิ่ม 96.1% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปเพิ่ม 6.9% อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปเพิ่ม 1.4% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม 4.5% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์เพิ่ม 13.9% เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเพิ่ม 11.7% สิ่งทอเพิ่ม 1.3% เม็ดพลาสติกเพิ่ม 0.7% เป็นต้น แต่ภาพรวมทั้งปีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ส่งออกติดลบ 2.5% สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแค่ 1.1%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญในเดือน ธ.ค. 2557 พบว่า ตลาดสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นถึง 13.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี นับจาก ม.ค. 2556 ญี่ปุ่นเพิ่ม 5.9% สหภาพยุโรปเพิ่ม 1.4% ตลาดอาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลดลง 2.9% อาเซียนใหม่เพิ่มขึ้น 3.2% จีนลดลง 18.8% ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกยางพารา ราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมันลดลง ส่วนทวีปออสเตรเลียเพิ่ม 4.1% ตะวันออกกลางเพิ่ม 8.6%

นางนันทวัลย์กล่าวว่า การส่งออกในปี 2558 ยังคงตั้งเป้าขยายตัวที่ 4% โดยขณะนี้ กรมฯ กำลังพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งการปรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ความผันผวนของค่าเงิน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมัน ซึ่งกำลังติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด และรอประเมินสถานการณ์ทั้งหมด หลังจากการส่งออกพ้นไตรมาสแรกไปแล้ว

โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกใหม่เหลือ 3.5% จากเดิม 3.8% และปรับลดอัตราการขยายตัวของประเทศต่างๆ ลง เช่น สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.6% จากเดิม 3.1% ยูโรโซนเหลือ 1.2% เช่น เยอรมนี 1.3% อังกฤษ 2.7% ขณะที่ญี่ปุ่นเหลือ 0.6% รัสเซียติดลบ 1.4% จีน เหลือ 6.8% อาเซียน 5 ประเทศ 5.2% ละตินอเมริกา 1.3% ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 3.3% เป็นต้น

ส่วนการเพิ่มมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดกลุ่มยูโรกำลังดำเนินการนั้น คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้น และยังส่งผลให้เศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนดีขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น และทำให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น โดยกรมฯ ได้ตั้งเป้าการส่งออกไปยังตลาดยุโรปปีนี้เพิ่มขึ้น 3%


กำลังโหลดความคิดเห็น