xs
xsm
sm
md
lg

คค.ชง ครม.เซ็นร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น พ.ค. ส่วนรถไฟไทย-จีน เริ่มก่อสร้าง 2 ตอนใน ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ชง ครม.เห็นชอบร่าง MOC พัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า ตั้งเป้า ลงนามร่วมญี่ปุ่น 26-27พ.ค. ที่โตเกียวเดินหน้าสำรวจออกแบบเสร็จใน 6 เดือน ตอกเข็มรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ต้นปี 59 ส่วนรถไฟไทย-จีน สำรวจออกแบบฉลุย เตรียมก่อสร้างกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-นครราชสีมา ต.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟว่า จะสรุปร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC) ที่จะมีการลงนามร่วมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า และจะมีการลงนามร่วมกันในวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยตนจะเดินทางไปลงนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นการยกร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือจะเป็นบันทึกความร่วมมือ (MOC : Memorandum of Cooperation) เนื่องจากไทย-ญี่ปุ่นมีความร่วมมือในการศึกษาเส้นทางรถไฟมานานแล้ว สามารถลงนามในขั้นตอนปฏิบัติได้เลย โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจเส้นทาง ศึกษาออกแบบในกลางเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะเริ่มที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะกำหนดแผนงานภายใน 6 เดือน และเนื่องจากมีการศึกษาเดิมเมื่อปี 2555ทางญี่ปุ่นเข้ามาทบทวนปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะใช้เวลาไม่มากนัก โดยจะเริ่มก่อสร้างให้ได้ในต้นปี 2559

โดยความร่วมมือจะเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นความร่วมมือเร่งด่วนคือการพัฒนาเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง และเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นการทำคู่ขนาน เช่น ศึกษาเส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร, การศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการทับซ้อนกันหลายโครงการ และการพัฒนาด้านบุคลากร

“ที่ปรึกษาพิเศษนายกฯ ญี่ปุ่นได้มาพบพูดคุยกันมีความชัดเจนมากขึ้น และภายใน 1-2 วันนี้จะมีการหารือเพื่อปรับปรุงร่าง MOU และเป็นไปได้ที่จะยกเป็น MOC เนื่องจากญี่ปุ่นเห็นว่าความร่วมมือของไทย-ญี่ปุ่นได้ก้าวข้าม MOU มาแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้เลย และจะทำให้ระบบการบริหารคณะกรรมการของสองฝ่ายสามารถต่อเชื่อมกันได้อย่างราบรื่น โดยจะสรุปเสนอรองนายกฯ ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนเส้นทางที่ทับซ้อนในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น กระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะประชุมหารือกับจีนและญี่ปุ่นเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ยืนยันความประสงค์ในการพัฒนาระบบรถไฟไทย โดยให้ความสำคัญ 1. เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม. โดยจะเริ่มสำรวจออกแบบช่วงครึ่งหลังปี 58 และก่อสร้างในปี 59 โดยเน้นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย 2. กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ไปถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย 3. เส้นทาง อ.แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม. หรือ East-West Corridor แต่เนื่องจากไม่มีการศึกษาเดิมทางญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาซึ่งจะเป็นการพัฒนาในระยะยาว

นอกจากนี้จะมีความร่วมมือในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งญี่ปุ่นสนใจเข้ามาช่วยศึกษาเส้นทางรถไฟในพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ที่มีรถไฟหลายระบบในแนวเดียวกัน เช่น ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนต่อขยาย, รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และเส้นทางที่ญี่ปุ่นจะศึกษากรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ทั้งนี้เพื่อออกแบบในการใช้เส้นทางร่วมกัน เนื่องจากเขตทางมีจำกัด

นายอาคมกล่าวว่า หลังลงนามใน MOC ญี่ปุ่นจะเข้านำผลศึกษาเส้นทางกรุงเทพฯ- เชียงใหม่ เดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 55 มาทบทวนและสำรวจออกแบบ คาดว่าจะใช้เวลาเกิน 6 เดือน รวมถึงหากต้องมีการปรับแบบจะให้เสร็จภายในสิ้นปี 58 ส่วนรูปแบบการลงทุนและการเงินนั้นจะทำการออกแบบคู่ขนานไปกับการสำรวจด้านโครงสร้าง ซึ่งหลักการจะให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การก่อสร้างและเดินรถตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะมีสถาบันด้านการเงินที่พร้อมให้เงินกู้ในแบบเข้ามาร่วมทุนด้วย ทั้งไจก้า เจบิก

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทางญี่ปุ่นเร่งรัดบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพื่อเร่งส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2559 ซึ่งได้รับรายงานว่าทางญี่ปุ่นจะส่งมอบรถไฟฟ้า 3 ขบวนแรก (9 ตู้) ในเดือน ต.ค. 58 เพื่อทดสอบ และจะนำมาทดลองวิ่งได้ในเดือน ธ.ค. 58

ส่วนจะเป็นรูปแบบใดนั้นขึ้นกับผลศึกษาผลตอบแทนการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางเจบิกจะนำรูปแบบการศึกษาการลงทุนรถไฟกัวลาลัมเปอร์

***รถไฟไทย-จีน สำรวจกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-นครราชสีมา ฉลุย เตรียมก่อสร้าง ต.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจินกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนว่า ผลการประชุมเมื่อวันที่ 6-8 พ.ค. ที่คุนหมิง ฝ่ายจีนโดย CRC ได้นำเสนอความก้าวหน้าการศึกษาเป็นไปได้ และสำรวจออกแบบ ทั้งความเร็ว ที่ตั้งสถานี ศูนย์ซ่อม แต่ยังไม่เสร็จ 100% ขณะที่ไทยแจ้งเรื่องความสะดวก การทำวีซ่า การประสานเพื่อนำอุปกรณ์เข้าประเทศและใช้งาน โดยขณะนี้มีทีมเข้ามาสำรวจแล้ว 80 คน และจะเข้ามาเพิ่มอีก 82 คนในปลายเดือนนี้เพื่อเร่งสำรวจออกแบบ และนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยดำเนินงาน

โดยการสำรวจ ออกแบบ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. จะเสร็จในเดือน ก.ย. นี้ และเริ่มก่อสร้างได้ใน ต.ค. 58 ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. ล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากติดพื้นที่ผ่านลุ่มน้ำ A1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบการก่อสร้าง ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. คาดว่าจะเสร็จใน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน ทำให้จะเริ่มก่อสร้างได้ใน ต.ค.-พ.ย. 58 จากแผนที่จะก่อสร้างใน ม.ค. 59 และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. จะเริ่มสำรวจใน ม.ค.-ก.พ. 59 ช้ากว่าแผน

ส่วนการเงินนั้นจะมีการพิจารณาจำนวนเงินกู้และเงื่อนไขจากธนาคารเพื่อนำเข้าและส่งออกของจีน และมีความชัดเจนในเดือน ส.ค. 58 พร้อมกันนี้ ได้หารือถึงการฝึกอบรมบุคลากรของไทยให้สามารถดูแลการก่อสร้างได้ในชุดแรก ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าหน้าที่เทคนิค รวม 800 คน โดยแบ่งเป็น 6 หลักสูตร คือ หลักสูตรเดินรถ จัดหาหัวจักร ซ่อมบำรุง ซ่อมทางรถไฟ ระบบสื่อสารอาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถและตัวจ่ายกำลังไฟฟ้า โดยให้จีนพิจารณาอบรมให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงเจรจาในรายละเอียดเรื่องไฟเบอร์ออปติกจะเชื่อมมาตามเส้นทางรถไฟด้วย เพื่อกำหนดจำนวนคอร์ รองรับทั้งรถไฟหลัก, สำรอง และเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมในครั้งต่อไปวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค. ที่ จ.นครราชสีมา ภาพรวมคือความต้องการที่จะให้มีเส้นทางรถไฟเชื่อมจากคุนหมิงของจีน-ลาว (เวียงจันทน์)-ไทย (หนองคาย)-กรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด โดยขณะนี้เส้นทางในประเทศจีนก่อสร้างจากคุนหมิงได้ 50% เหลือระยะทางประมาณ 250 กม. เป็นพื้นที่ภูเขาเกือบทั้งหมด จะถึงชายแดนลาวซึ่งอาจจะล่าช้าบ้าง โดยคาดว่าอีก 4-5 ปี หรือประมาณปี 62-63 จะแล้วเสร็จ ส่วนเส้นทางในลาว เหลือการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายก่อนลงนามสัญญา คาดใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี (59-62) ส่วนไทย จะเริ่มก่อสร้างใน ต.ค. 58 แล้วเสร็จใน 3 ปี หรือในปลายปี 61
กำลังโหลดความคิดเห็น