xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นร่วมไทยลงทุนทวายสนก่อสร้างรถไฟฟ้า2สาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หม่อมอุ๋ย"เผย นายกฯเตรียมไป ญี่ปุ่นเดือนก.ค. เซ็นสัญญาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย“ไทย-ญี่ปุ่น-เมียนมาร์”ปัดตอบโยกย้ายปลัดคลัง “คมนาคม”ชงครม.เห็นชอบร่างMOC พัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า ตั้งเป้า ลงนามร่วมญี่ปุ่น 26-27พ.ค. ที่โตเกียวเดินหน้าสำรวจออกแบบเสร็จใน 6 เดือน ตอกเข็มรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ต้นปี 59 “ประจิน”เร่งแผนฟื้นฟูรถไฟ สรุปแผนโอนที่ดินมักกะสันให้คลังนำร่อง เพื่อเคลียร์หนี้สินภายใน มิ.ย. นี้ พร้อมเปิดเอกชนร่วมทุนทั้งงานซ่อมบำรุง เดินรถสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิ้งก์ยันสรุปตั้งกรมขนส่งทางรางในพ.ค.นี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หลังเข้าเยี่ยมคารวะ ว่า เป็นการพูดคุยติดตามงาน และได้ข้อสรุปว่า ประเทศญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยเป็นการลงทุนร่วมกันของ 3 ประเทศ คือ ไทย ญี่ปุ่น และเมียนมาร์ ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในเดือนก.ค.นี้

นอกจากนี้ ทางประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจในการร่วมสร้างรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เน้นเรื่องของการโดยสารโดยเป็นรถไฟไฮสปีด และ สายกาญจนบุรี-แหลมฉบัง เน้นในเรื่องการขนส่งสิ้นค้า และการโดยสาร ซึ่งหลังจากนี้จะมีการวางแผนเพื่อความชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้ ตนอยากให้พูดถึงเรื่องรูปแบบจำลองการลงทุนก่อน เพราะเป็นการลงทุนที่สูง และโอกาสทำกำไรไม่ได้ง่าย โดยต้องวางแบบจำลองการลงทุนที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นชอบร่วมกัน โดยหลังจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงนามในสัญญาในหลักการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึง โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง ว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดหาแหล่งลงทุนในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย โดยขณะนี้ ยังคงไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำแหล่งลงทุนจากภาครัฐ หรือภาคเอกชนมาลงทุน โดยจะมีการหารือข้อสรุปกันอีกในครั้งต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการโยกย้าย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าจะย้าย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนกระทรวงอื่นๆ นั้น ให้ทางรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ เป็นผู้เสนอเอง

คค.ชงครม.จ่อเซ็นรถไฟไทย-ญี่ปุ่นพ.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟ ว่า จะสรุปร่าง บันทึกความร่วมมือ (MOC) ที่จะมีการลงนามร่วมระหว่างไทยและญี่ปุ่น เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า และจะมีการลงนามร่วมกันในวันที่ 26-27พ.ค.นี้ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยตนจะเดินทางไปลงนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นการยกร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือจะเป็น บันทึกความร่วมมือ (MOC: Memorandum of Cooperation) เนื่องจากไทย-ญี่ปุ่นมีความร่วมมือในการศึกษาเส้นทางรถไฟมานานแล้ว สามารถลงนามในขั้นตอนปฏิบัติได้เลย โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจเส้นทาง ศึกษาออกแบบในกลางเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะเริ่มที่เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่จะกำหนดแผนงานภายใน 6 เดือน และ เนื่องจากมีการศึกษาเดิมเมื่อปี 2555ทางญี่ปุ่นเข้ามาทบทวนปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะใช้เวลาไม่มากนัก โดยจะเริ่มก่อสร้างให้ได้ในต้นปี 2559

โดยความร่วมมือจะเป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มแรกเป็นความร่วมมือเร่งด่วนคือการพัฒนาเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง และเส้นทางเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศและท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นการทำคู่ขนาน เช่น ศึกษาเส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร ,การศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการทับซ้อนกันหลายโครงการและการพัฒนาด้านบุคลากร

ขีดเส้นมิ.ย.สรุปโอนที่มักกะสันล้างหนี้

พล.อ.อ.ประจิน เปิดเผยภายหลังประชุมทบทวนแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า การฟื้นฟูตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อเดือนม.ค. โดยให้ร.ฟ.ท.ดำเนินงานใน 5 แผนงาน คือ1. ความชัดเจนของนโยบาย 2. การพัฒนากรมขนส่งทางราง 3. การโอนสิทธิ์ที่ดินให้กระทรวงการคลังเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน 4. แนวทางการให้เอกชนร่วมงานกับรถไฟสายสีแดง 5. การกำกับดูแลโครงการสำคัญต่างๆ โดยในเรื่องการโอนสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้ให้กระทรวงการคลังนั้น จะนำร่องก่อน ที่ดินแปลงมักกะสันจำนวน 497 ไร่ โดยคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์เข้ามาร่วมกับร.ฟ.ท.ในการจ้างที่ปรึกษาประเมินราคาที่ดินและค่าเสียโอกาส ซึ่งได้พิจารณาวางผังในการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน

คือ 1.พิพิธภัณฑ์การรถไฟ หรือขนส่งทางราง เนื้อที่ 30 ไร 2. พื้นที่สวน ประกอบด้วยบึงมักกะสัน เลนจักรยาน และพื้นที่สีเขียว เนื้อที่ 150 ไร่ 3. พื้นที่พาณิชย์ 140 ไร่ รวมกับลานจอดรถ และถนนเข้าออก โดยจะสรุปในเดือนมิ.ยนี้

ส่วนการซ่อมบำรุงเป็นไปได้ที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทั้งแบบการทำสัญญาซ่อมบำรุงโดยตรง หรือให้เอกชนมาร่วมในเรื่องการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมไปถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย พร้อมกันนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องพัฒนาบุคลากรที่มีในปัจจุบัน 14,000 คนเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการบริการในภาพรวมที่เกี่ยวกับรางขนาด 1เมตร ที่จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น และรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรที่จะก่อสร้างเพิ่ม รวมถึงพัฒนา โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ และมหาวิทยาลัยที่มีการสอบด้านระบบขนส่งทางราง
กำลังโหลดความคิดเห็น