xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษาพิเศษนายกฯญี่ปุ่น พบ “บิ๊กตู่-หม่อมอุ๋ย” เร่ง “ทวายโปรเจกต์”-รถไฟ 2 สาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รับผิดชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวางแผนระบบสาธารณูปโภค การฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น และการส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ตามแผนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่ปรึกษาพิเศษเศรษฐกิจนายกฯญี่ปุ่น พบ “บิ๊กตู่ - หม่อมอุ๋ย” เร่ง “ทวายโปรเจกต์” หวังลงนาม 3 ประเทศ ทัน กรกฎาคมนี้ พร้อม สนใจลงทุน โครงการ รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กทม.- เชียงใหม่ รอ “ประจิน” บินลงนามสัญญารถไฟ แต่ “ญี่ปุ่น” ต้องไปคิดรูปแบบจำลองการลงทุนก่อน ด้าน “หม่อมอุ๋ย” ย้ำไม่มีปัญหาแหล่งเงินทุนมอเตอร์เวย์ 3 สาย

วันนี้ (11 พ.ค.) มีรายงานว่า ช่วงเช้า นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รับผิดชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวางแผนระบบสาธารณูปโภค การฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น และการส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ตามแผนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอิซุมิ ได้กล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือพร้อมกับแจ้งความคืบหน้าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย - ญี่ปุ่น ในเรื่องของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ - เชียงใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมนำประสบการณ์การบริหารงานและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาใช้ในการพัฒนา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชอบให้เร่งดำเนินการ ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ฝ่ายไทยได้รับทราบจากญี่ปุ่นว่ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการทวาย อีกทั้งขอบคุณ นายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ที่เร่งดำเนินการทุกอย่าง ซึ่งญี่ปุ่นหวังว่าจะมีการลงนามในความตกลง 3 ฝ่ายภายในเดือน ก.ค. นี้ และพร้อมจะร่วมลงทุนในแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจผ่านไจก้า และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก)

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกำลังเตรียมการให้ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรญี่ปุ่นเดินทางมาเยี่ยมชมสินค้าในไทย อาทิ อาหารไทย ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เพื่อให้ตรงกับความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งญี่ปุ่นเสนอให้มีความร่วมมือการวิจัยยางพาราผ่านสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก

นอกจากนี้ นายอิซุมิ ระบุด้วยว่าได้หารือกับอธิบดีกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่นก่อนเดินทางมาไทย โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือแนะนำไทยอย่างเต็มที่

ด้านนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมอบหมายให้หน่วยงานทั้ง 2 ฝ่าย สานต่อเพื่อตกลงรายละเอียดความร่วมมือให้ได้โดยเร็ว และให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ก่อนที่จะได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ในเดือน ก.ค. นี้ โดยใช้ช่องทางผ่านเอกอัครราชทูตและระหว่างกระทรวงของทั้งสองประเทศเพื่อความสะดวกในการประสานงาน

 
ที่ปรึกษาพิเศษ ญี่ปุ่น พบหม่อมอุ๋ย เร่งทวายโปรเจกต์

ช่วงบ่าย นายฮิโระโตะ อิซุมิ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เพื่อรายงานความคืบหน้าความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทางญี่ปุ่นยืนยันที่จะมีส่วนร่วมลงทุนในนิติบุคคลเฉพาะกิจ สามฝ่ายระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ซึ่งจะลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงสามฝ่าย ระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แผนการดำเนินงานยังคงเป็นรูปเดิม คือ ขั้นแรก จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีการสร้างถนนเชื่อมระหว่าง ไทย - เมียนมา ต่อมาในขั้นที่สอง จะขยายเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย ท่าเรือ โรงงานไฟฟ้า เป็นต้น

“ญี่ปุ่น ย่ำ รถไฟ 2 เส้นทาง ทั้งรางคู่ - ความเร็วสูง

ส่วนความร่วมมือระบบราง โดยญี่ปุ่นยืนยันความสนใจที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือ

1. รถไฟรางคู่มาตรฐาน กาญจนบุรี - กรุงเทพ - อรัญประเทศ - แหลมฉบัง โดยจะจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างละเอียด ในเรื่องของการลงทุน ซึ่งรถไฟสายดังกล่าว จะสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าด้วย

2. รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - เชียงใหม่ จะเป็นเส้นทางสำหรับการโดยสาร ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเห็นวา ควรจะหารือกันถึงแบบจำลองของการลงทุน เนื่องจากเส้นทางนี้ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง อีกทั้งยังมีโอกาสในการทำกำไรน้อย จึงต้องหาข้อตกลงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อลงนามในสัญญาในหลักการของเส้นทางรถไฟทั้งสองสาย

ขณะที่ การพัฒนาพลังงานถ่านหิน ญี่ปุ่นแสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากถ่านหินมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งยังชื่นชมญี่ปุ่นว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าถึงแม้ว่าจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยบางส่วน แต่รัฐบาลก็ได้พยายามชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจและได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยสนใจในเรื่องการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งญี่ปุ่นได้ส่งมอบมาให้ไทยแล้ว 1 เครื่อง โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการทดลอง หากประสบความสำเร็จคาดว่าจะสร้างโรงงานในรูปแบบนี้ทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ ไทยสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงการดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางด้านธุรกิจร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่นด้วย

พร้อม ลงนาม 3 ฝ่าย โครงการทวาย ก.ค.นี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ทางการญี่ปุ่นยืนยันที่จะเข้าร่วมในโครงการทวาย ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ ระหว่างไทย ญี่ปุ่น และเมียนมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายที่ญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. นี้ โดยทางการญี่ปุ่นพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไทยและเมียนมาร์ได้ตกลงก่อนหน้า ในเรื่องของถนนที่เชื่อมระหว่างไทยกับ เมียนมา และแผนเงินกู้ระยะยาวที่ไทยให้ความช่วยเหลือกับเมียนมา

ทางการญี่ปุ่นได้ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟ 2 สาย คือ สายแรก แหลมฉบัง - กรุงเทพ - กาญจนบุรี - พุน้ำร้อน ซึ่งเป็นแผนระยะยาวเพื่อขนส่งสินค้าและใช้โดยสาร ส่วนสายที่ 2 กรุงเทพ - เชียงใหม่ เน้นในเรื่องของการโดยสารโดยเป็นรถไฟไฮสปีด ซึ่งโครงการทั้ง 2 สายนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม จะเดินทางไปลงนามในหลักการของสัญญารถไฟฟ้าต่อไป อย่างไรก็ตามต้องการให้ญี่ปุ่นไปคิดรูปแบบจำลองการลงทุนก่อนนำมาหารือในครั้งหาต่อไป

ย้ำไม่มีปัญหาแหล่งเงินทุนมอเตอร์เวย์ 3 สาย
 
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำแหล่งลงทุนจากภาครัฐ หรือเอกชน มาลงทุน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเสนอว่าให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ในขณะที่กระทรวงการคลังมองว่ารัฐควรเป็นผู้ลงทุนเอง โดยจะต้องหาข้อสรุปต่อไป


นายฮิโระโตะ อิซุมิ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เพื่อรายงานความคืบหน้าความร่วมมือกับไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น