xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เร่งตั้ง กก.ร่วมทุน PPP เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.เตรียมตั้ง กก.ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 งานเดินรถสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) มิ.ย.นี้เร่งเปิดบริการได้ตามแผน “ยอดยุทธ” ลุ้นเจรจาโอนเดินรถเขียวใต้ให้ กทม.สำเร็จโดยเร็วเพื่อเป็นต้นแบบสีเขียวเหนือ เผยโอน กทม.เร็วกว่าวิธีร่วมทุน PPP และเดินรถได้ต่อเนื่อง

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ว่า การเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อรับโอนการเดินรถสายสีเขียวใต้ไปดูแลยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะ กทม.ยังไม่ให้คำตอบกรณีการจ่ายหนี้ค่าลงทุนให้ รฟม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท และความชัดเจนข้อกฎหมายกรณี กทม.จะเดินรถออกนอกเขตพื้นที่ กทม. ซึ่งได้เร่งรัด รฟม.หาข้อยุติเพราะกังวลว่าหากล่าช้าจะไม่ทันกับกำหนดเปิดเดินรถในปี 2562 โดยขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าไปแล้ว 55% และหากสรุปการเจรจากับ กทม.รับโอนเดินรถสีเขียวใต้ได้จะเป็นต้นแบบของการเดินรถสายสีเขียวเหนืออีกด้วย

โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) นั้นจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งตามแผนเดิม ภายในเดือน มิ.ย.บอร์ดจะแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเดินรถในรูปแบบ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ขึ้นเพื่อให้การเดินรถมีความคืบหน้าสอดคล้องกับการก่อสร้าง โดยหลังจากตั้ง กก.พิจารณาการเดินรถตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตามขั้นตอน จะต้องเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และรัฐบาลพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้งว่าจะให้ รฟม.เดินตามแผน คือ ร่วมทุน PPP หรือเจรจากับ กทม. เหมือนสายสีเขียวใต้

“ตอนนี้เดินรถสีเขียวเหนือ รฟม.จะเดินหน้าตามแผนเดิม คือ ตั้ง กก.ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 เพื่อเดินรถเอง ซึ่งขึ้นกับมติ กก.ร่วมทุนฯ ว่าจะเปิดประมูลหรือเจรจาตรงกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS หรือหาก ครม.มีมติให้เจรจาโอนให้ กทม.ก็จะเหมือนสีเขียวใต้ ซึ่งจะเร็วกว่าวิธีร่วมทุนฯ (PPP) เพราะวิธีนี้มีขั้นตอนมาก และหาก กก.ร่วมทุนฯ เห็นว่าควรเปิดประมูลอาจทำให้ได้ผู้เดินรถคนละรายกับรถไฟฟ้า BTS การเดินรถจะไม่ต่อเนื่อง ประชาชนไม่สะดวกเพราะต้องลงมาเปลี่ยนรถ”

โดยขณะนี้การเบิกจ่ายงบปี 2558 ของ รฟม.มีความล่าช้ากว่าแผน ส่วนใหญ่เป็นความล่าช้าในการเวนคืนโดยเฉพาะจุดก่อสร้างที่ต้องโยกย้ายระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) สัญญา 3, 4 งานล่าช้าประมาณ 2% ดังนั้น จึงมอบหมายให้ผู้ว่าฯ รฟม.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับเหมาเพื่อเร่งแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนงานก่อสร้างรวม

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.นั้น ขณะนี้ได้เสนอขออนุมัติดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 4 สายไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว คือ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้เร็วๆ นี้ และหากได้รับความเห็นชอบจะเริ่มขั้นตอนการจัดทำทีโออาร์และเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้ โดยจะทำให้ภายในปี 2563 กทม. และปริมณมณฑลจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าให้บริการตามเป้าหมาย 10 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าของ รฟม. 8 สาย คือ 1. สายเฉลิมรัชมงคล (เปิดให้บริการแล้ว) 2. สายสีม่วง 3. สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 4. สายสีเขียว ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 5. สายสีส้ม 6. สายสีชมพู 7. สายสีเหลือง 8. สายสีม่วงใต้ (จะประมูลในปีนี้) 9. รถไฟฟ้าสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ 10. รถไฟฟ้า BTS (ให้บริการแล้ว)
กำลังโหลดความคิดเห็น