บอร์ด รฟม.การันตี “พีระยุทธ” พ้นมลทิน เดินหน้าเซ็นจ้างนั่ง “ผู้ว่าฯ รฟม.” กลางเดือน มี.ค.นี้ หลังผลสอบข้อเท็จจริงระบุเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและเพิ่มเงินผู้รับเหมา 290 ล้านทำตามขั้นตอน ไม่เอื้อเอกชน ส่วนข้อติงไม่เสนอบอร์ดตอนแก้สัญญาไม่ผิดเพราะมีเหตุผล เตรียมแจง สตง.เชื่อไม่ติดใจ “ยอดยุทธ” ขีดเส้นเร่งเซ็นสัญญาจ้างเดินรถสีน้ำเงินต่อขยายในปี 58 หวั่นเปิดไม่ทันปี 61
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ได้พิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึง รฟม.ให้ตรวจสอบนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ รฟม. (ฝ่ายวิศวกรรมและปฏิบัติการ) ในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สัญญาที่ 2 (สนามไชย-ท่าพระ) ส่งผลให้ รฟม.ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 290 ล้านบาท โดยกรรมการสอบสวนชุดที่มีนายไกร ตั้งสง่า กรรมการ รฟม.เป็นประธาน ได้สรุปว่าการปรับแผนก่อสร้างจากวิธีสูบน้ำระบายออกจากอุโมงค์เป็นระบบฉีดน้ำเพื่อรักษาสภาพดิน เนื่องจากหลังลงนามสัญญาแล้วสำรวจพบระดับน้ำสูงและเป็นดินทรายมีความจำเป็นเพื่อรักษาสภาพโครงสร้างไม่ให้ทรุดตัวและเกิดความเสียหายต่อโบราณสถานรอบๆ และไม่ทำให้โครงการก่อสร้างหยุดชะงัก และคณะทำงาน รฟม. และที่ปรึกษาโครงการ (PMC) ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (CSC) ร่วมกันพิจารณาและเห็นควรให้จ่ายชดเชยเงินผู้รับเหมา และได้มีการเสนอบอร์ดชุดที่แล้วที่มี น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานเห็นชอบแล้ว ซึ่งตรงกับความเห็นของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่นายชรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าฯ รฟม. แต่งตั้ง โดยมี นายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธาน
ส่วนประเด็นที่กรรมการสอบฯ ชุดนายสราวุธเห็นว่า นายพีระยุทธ ในฐานะ ผอ.โครงการ ไม่ได้นำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากข้อ 13 เป็นข้อ 17 เสนอบอร์ดเห็นชอบนั้น กรรมการสอบฯ ชุดนายไกรเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีการพิจารณาขั้นต้นร่วมกันของทีมที่ปรึกษาและผู้แทน รฟม.แล้ว ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสาระรูปแบบก่อสร้างแล้วเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแก้สัญญาและเพิ่มวงเงินให้ผู้รับเหมา การเปลี่ยนสัญญาจากข้อ 13 เป็นข้อ 17 จึงมีเหตุผลสามารถทำได้
พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ข้อเท็จจริงไม่มีประเด็นสงสัย ถือว่า รฟม.ทำถูกต้องในการเปลี่ยนแปลงสัญญาและจ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับเหมา บอร์ดจึงมีมติว่า การดำเนินการของนายพีระยุทธไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมา ไม่ทุจริต และให้ รฟม.รวบรวมรายละเอียดการสอบสวนทั้งหมดเสนอบอร์ดเพื่อตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 13 มีนาคม จากนั้นจะเร่งชี้แจงไปยัง สตง.ทันที หาก สตง.ไม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็จะสามารถลงนามสัญญาจ้างนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ รฟม. เป็นผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ได้ในสัปดาห์ต่อไป
“สตง.ไม่ได้ชี้มูลว่าผิด แต่ให้ตรวจสอบเพราะมีคนไปร้อง ถ้าชี้แจงขั้นตอนว่าถูกต้องก็ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งนอกจากแจ้งไป สตง.แล้วจะรายงานผลตรวจสอบต่อกระทรวงคมนาคมและ ครม.รับทราบด้วยเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา ในขณะที่กระบวนการสอบวินัยนายพีระยุทธก็จะต้องยุติด้วย สามารถรับหน้าที่ผู้ว่าฯ ได้ ส่วนกรณีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเรื่องการสรรหาฯ ผู้ว่าฯ รฟม.นั้น ศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ ดังนั้น จะยังไม่กระทบต่อขั้นตอนการว่าจ้างผู้ว่าฯ รฟม.” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
ขีดเส้นเร่งเซ็นสัญญาจ้างเดินรถสีน้ำเงินต่อขยายในปี 58
ส่วนความคืบหน้าการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า กรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ยังไม่มีการประชุม เพราะต้องรอนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงจะใช้วิธีการเจรจาหรือไม่ โดยหลังจากที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม เห็นชอบการเดินรถต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและต้องการเปลี่ยนจากการร่วมทุนแบบ PPP-Gross Cost เป็นแบบ PPP-Net Cost ที่ให้เอกชนลงทุนและแบ่งส่วนแบ่งให้รัฐแทนที่รัฐลงทุนเองเพื่อไม่ต้องให้หนี้สาธารณะเพิ่ม โดย ครม.ต้องการให้เร่งเปิดเดินรถ ซึ่งตามแผนงานโยธาจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 60 ไม่เกินต้นปี 61 ซึ่งหากต้องการเปิดเดินรถพอดีจะต้องลงนามสัญญากับผู้เดินรถในปี 58 นี้เพราะต้องใช้เวลาจัดหารถอีก 3 ปี ดังนั้นหากช้ากว่านี้จะไม่ทันแน่นอน