xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ปรับแนว-ยุบรวมสถานีสายสีส้ม ประหยัด 3.6 พันล้าน เร่งชงคมนาคมเดินหน้าเฟสแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ  ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.สรุปปรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มและยุบรวมสถานีรางน้ำและราชปรารภลดผลกระทบเวนคืน ช่วยประยัดค่าก่อสร้างและเวนคืนรวมกว่า 3.6 พันล้าน เร่งเสนอคมนาคมใน 1-2 สัปดาห์นี้ ขอเดินหน้าเฟสแรก วงเงินกว่า 1.1 แสนล้านก่อน หวั่นยึกยักกระทบภาพรวมล่าช้า พร้อมอนุมัติค่าจ้างเดือนละ 3.4 แสนบาท “พีระยุทธ” นั่งผู้ว่าฯ คนใหม่

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ปรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ระยะทาง 35.4 กิโลเมตร (กม.) ใหม่เพื่อลดปัญหาผู้ได้รับกระทบจากการเวนคืนบริเวณชุมชนประชาสงเคราะห์ และบริเวณสถานีราชปรารถ และสถานีรางน้ำ โดยจะสรุปรายละเอียดเสนอเพิ่มเติมไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ รฟม.ได้เสนอแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,691 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท และสายสีส้ม ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ แนวเส้นทางสายสีส้มที่ปรับเปลี่ยนจะเป็นส่วนของเฟสที่ 1 (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 วงเงินประมาณ 110,325.76 ล้านบาท จากเดิมที่ช่วงดินแดงจะเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วจึงเบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 ที่หน้า รฟม. และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหงนั้น จะปรับเป็นใช้แนวถนนดินแดงจนถึงถนนพระราม 9 โดยใช้สถานีพระราม 9 เป็นตัวเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีพระราม 9 ทำให้สายสีส้ม เฟส 1 จะเริ่มต้นจาก พระราม 9-มีนบุรี การปรับแนวเส้นทางดังกล่าวทำให้ระยะทางสั้นลงและเส้นทางเป็นแนวตรงค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนลดลงรวมประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 (ตะวันตก) จะเป็นช่วงตลิ่งชัน-พระราม 9 จากเดิมคือช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม

นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติเห็นชอบให้ยุบรวมสถานีรางน้ำและสถานีราชปรารภ ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม เฟส 2 (ตะวันตก) ซึ่งมีปัญหาเนื่องจากต้องเวนคืนตึกแถวจำนวน 50 ห้อง ซึ่งผู้ถูกเวนคืนเรียกร้องค่าชดเชยสูงถึง 50 ล้านบาทต่อห้อง ในขณะที่ราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาทต่อห้อง ดังนั้นบอร์ดจึงต้องตัดสินใจหาข้อยุติเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อต่อไป ซึ่งการยุบรวมเหลือสถานีเดียวนั้นจะเหลือสถานีราชปรารภไว้ โดยขยับแนวที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีมักกะสัน (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) มากขึ้น ซึ่งยอมรับว่า ผู้โดยสารจะต้องเดินไกลขึ้นบ้างแต่จะเชื่อมกับแอร์พอร์ตลิ้งก์สะดวก ซึ่งส่วนนี้ทำให้ค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนลดลงรวมอีกประมาณ 3,170 ล้านบาท รวมการปรับเส้นทางและยุบรวมสถานีแล้วทำให้ค่าก่อสร้างสายสีส้มลดลงรวม 3,670 ล้านบาท

ตกลงค่าจ้างผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่เดือนละ 3.4 แสนบาท

พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า บอร์ดยังได้รับทราบผลการเจรจาค่าตอบแทนผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ที่อัตรา 3.4 แสนบาทต่อเดือน โดยนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าฯ รฟม. ได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯรฟม.คนใหม่ โดยในต้นสัปดาห์นี้ รฟม.จะเสนอผลการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.ไปยังก ระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป เชื่อว่าผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่จะสามารถเริ่มทำงานได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนการพิจารณารูปแบบจัดหาผู้รับงานเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม.นั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2536 ยังไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณา คงต้องรอให้ผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่เข้ามาช่วยเร่งดำเนินการรวมถึงการเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการมาตรา 13 หรือไม่ เพราะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ รฟม. ซึ่งบอร์ดต้องการให้ตัดสินใจเรื่องนี้โดยเร็ว เนื่องจากงานจัดหารถต้องใช้เวลาถึง 36 เดือนหลังลงนามในสัญญา ซึ่งอาจทำให้การเปิดให้บริการล่าช้าออกไป แต่ขณะนี้ รฟม.ยังมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้สามารถเปิดบริการได้ภายในปี 2561 ตามแผนที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น