xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสีส้มส่อมีปัญหา บอร์ด รฟม.เมินปรับแนวเส้นทางลดเวนคืนประชาสงเคราะห์

เผยแพร่:

บอร์ด รฟม.ยันไม่ปรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มเฟสแรก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เดินหน้าเวนคืนชุมชนประชาสงเคราะห์ ชี้ปรับเส้นทางยุ่งยากเหตุต้องออกแบบใหม่ และหวั่นมีผู้โดยสารน้อย “ยอดยุทธ” เชื่อชาวบ้านเข้าใจ

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ประชุมได้มีการหารือกรณีการปรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 21.20 กม. วงเงิน 110,325.76 ล้านบาท เพื่อเลี่ยงชุมชนประชาสงเคราะห์ ซึ่งมีปัญหาการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบอร์ดเห็นว่า รฟม.ควรก่อสร้างตามเส้นทางเดิมที่ออกแบบไว้แล้ว เพราะจะได้ประโยชน์มากกว่าการปรับเส้นทางใหม่ โดยบอร์ดจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบแนวเส้นทางพร้อมทั้งเจรจากับประชาชนที่คัดค้าน ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเหลือผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 130 ครัวเรือน จากเดิมที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 300 ครัวเรือน โดยจะให้ได้ข้อยุติในการประชุมบอร์ดเดือนกุมภาพันธ์นี้

“บอร์ดเห็นว่าควรจะก่อสร้างตามแนวเส้นทางเดิมที่ได้ออกแบบไว้แล้ว เพราะการเบี่ยงแนวทางใหม่มีความยุ่งยาก ต้องออกแบบใหม่ และจากการศึกษาก็จะมีผู้โดยสารไม่หนาแน่นเท่าเดิม แถมจะไปเบียดเส้นทางรถโดยสารด้วย โดยภายในเดือนนี้บอร์ดจะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ที่คัดค้าน และการประชุมบอร์ดครั้งหน้าต้องสรุปให้ได้ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนแนวเส้นทาง ซึ่งยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเสนอโครงการเข้า ครม.” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ รฟม.ได้เชิญชาวบ้านในพื้นที่ในดินแดง ประชาสงเคราะห์ พระราม 9 ประมาณ 150 คน มาร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรีว่า (สายตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม -ตลิ่งชัน) เพื่อหาทางออก ช่วงตัดผ่านพื้นที่ถนนประชาสงเคราะห์ ดินแดง ที่มีการคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ โดย รฟม.ได้มีการศึกษาปรับแนวเส้นทางช่วงดังกล่าวใหม่ โดยมีเส้นทางเริ่มจากสถานีรางน้ำไปตามถนนราชปรารภและถนนดินแดง เข้าสู่ถนนพระราม 9 และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีพระราม 9 จากนั้นวิ่งต่อไปตามถนนพระราม 9 จนถึงสถานี รฟม. ซึ่งจะลดผลกระทบผู้ถูกเวนคืนประมาณ 150 หลังคาเรือนลง ส่งผลประหยัดงบประมาณเวนคืนได้ 500 ล้านบาท ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

ส่วนแนวเส้นทางตามแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน เริ่มจากสถานีรางน้ำไปตามถนนราชปรารภและถนนดินแดง แล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ที่สถานีดินแดง เข้าถนนประชาสงเคราะห์ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 จนถึงสถานี รฟม.

ซึ่งในการศึกษาได้เปรียบเทียบแนวเส้นทางทั้ง 2 เส้นทาง ได้คำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ปัจจัยด้านการให้บริการผู้โดยสารและการพัฒนาเมือง ทั้งสองแนวทางเลือกมีผู้มาใช้บริการใกล้เคียงกัน และมีความพร้อมในการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางและการพัฒนาพื้นที่สำหรับส่งเสริมการบริการและการพัฒนาเมือง

2. ปัจจัยด้านวิศวกรรม ทั้งสองแนวทางเลือกสามารถจัดการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัยในการให้บริการ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม

3. ปัจจัยด้านการลงทุน แนวเส้นทางเดิมมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงกว่าแนวที่ปรับใหม่

4. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แนวเส้นทางเดิมมีผู้ถูกเวนคืนที่ดินและพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงและฝุ่นละอองจากการก่อสร้างสูงกว่าแนวใหม่

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 21.20 กม. วงเงิน 110,325.76 ล้านบาทนี้อยู่ในแผนงานโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งล่าช้าจากแผนงานเดิมที่จะเสนอ ครม.ในเดือนมกราคม รวมไปถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,691 ล้านบาท ซึ่งต้องปรับแผนเสนอ ครม.ล่าช้าไป 1 เดือนเช่นกัน โดยทั้ง 3 โครงการมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น