xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.ยันสรรหาฯถูกต้อง ไม่หวั่นล้มผู้ว่าฯดิสเครดิตรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คมนาคม”เดินหน้าสั่งให้คณะกรรมการ การรถไฟฟ้าฯ (รฟม.) เร่งรัดสรุปเรื่องการสรรหาผู้ว่าการพร้อมแจงให้สังคมให้เข้าใจชัดเจน พร้อมเร่งรัดงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆให้เดินหน้าเร็วขึ้น จับตา รฟม.ทำรัฐบาลไร้ผลงาน เข้าทางกลุ่มผลประโยชน์เชื่อมการเมืองเก่า หวังดิสเครดิตรัฐบาล

จากกรณีที่นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (บริหาร)ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม.ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.จำนวนทั้งสิ้น 4 คนได้แก่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการสรรหา ส่วนกรรมการอีก 3 คน คือ นายเพิ่มศักดิ์ สัจจะเวทะ นายสุนทร ทรัพย์ตันติกุล และพลตรีพิเชษฐ คงศรี โดยฟ้องทั้งศาลอาญาและศาลปกครองกลาง กล่าวหาว่าคณะกรรมการสรรหากีดกันและเลือกปฏิบัติโดยกำหนดคุณสมบัติว่าผู้สมัครต้องไม่เป็นรักษาการผู้ว่าการ รฟม.ในวันยื่นใบสมัครและกระบวนการสรรหาดำเนินการผิดขั้นตอน พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ รฟม.และนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.ได้แถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้สมัครทุกราย ไม่มีการเอื้อประโยชน์หรือทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้สมัครรายใด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในอดีตทุกครั้งที่มีการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.จะมีการฟ้องร้องกันจากผู้สมัคร โดยเฉพาะคนใน รฟม.เองอยู่ตลอด ทำให้ รฟม.มีแต่ปัญหาและงานต่างๆเป็นไปด้วยความล่าช้า และในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นอีกทำให้ผู้ใหญ่ระดับสูงในรัฐบาลเอือมระอา สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและ รฟม.เร่งรัดดำเนินการสรรหาและชี้แจงให้สังคมเข้าใจโดยเร็วว่าการดำเนินการทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะขณะนี้มีความพยายามบิดเบือน สร้างภาพให้รัฐบาลเป็นผู้ร้าย ทำงานล่าช้า

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติข้อ 3.1.12 ว่าต้องไม่เป็นรักษาการผู้ว่าการ รฟม.ในวันยื่นสมัครเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้สมัครทุกคน เพราะตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการอาจทำให้ผู้สมัครรายอื่นเสียเปรียบ ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครรายอื่นได้ การกำหนดคุณสมบัตินี้ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่กระทบต่อการดำเนินงานของ รฟม.แต่อย่างใดเพราะตามมาตรา 27 แห่ง พรบ.รฟม.ระบุว่าในกรณีตำแหน่งผู้ว่าการว่างลง ให้รองผู้ว่าการอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการ ถ้าไม่มีให้แต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งรักษาการแทนได้ ดังนั้น หากรองผู้ว่าการคนใดที่ต้องการลงสมัครสรรหาผู้ว่าการก็สามารถลงสมัครได้ เพียงแค่ไม่รับเป็นรักษาการผู้ว่าการ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล

“เป็นที่น่าสังเกตุว่าการฟ้องร้องเพราะตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการไม่ใช่ตำแหน่งถาวรที่รองผู้ว่าการคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของหรือปฏิเสธจะรับไม่ได้ เป็นเพียงตำแหน่งชั่วคราวเท่านั้น วันนี้กำลังเร่งสรรหาผู้ว่าการ ไม่ใช่สรรหารักษาการผู้ว่าการ การกำหนดคุณสมบัตินี้ไม่ได้เป็นการกีดกันรองผู้ว่าการคนใดที่เป็นรักษาการผู้ว่าการ แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำไมต้องเดือดร้อนนัก หากไม่ได้เป็นรักษาการผู้ว่าการ รฟม.เพราะต้องลงสมัครสรรหาผู้ว่าการ “แหล่งข่าวจากคมนาคม กล่าว

ส่วนการกล่าวหาว่าคณะกรรมการสรรหาทำผิดขั้นตอนก็เป็นการบิดเบือนข้อมูล เพราะการกำหนดขั้นตอนสรรหาเป็นสิทธิของคณะกรรมการสรรหาที่จะกำหนดและเปลี่ยนแปลงได้ และคณะกรรมการสรรหาก็ได้ชี้แจงแล้วว่าเนื่องจากมีผู้สมัครถึง 7 ราย การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมดให้ครบถ้วนต้องใช้เวลา เช่นต้องตรวจสอบจากหน่วยงานต้นสังกัดในอดีตของผู้สมัคร คณะกรรมการสรรหาจึงให้ผู้สมัครทั้ง 7 รายสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ตามกำหนดเดิมคือวันที่ 5 มกราคม 2558 ก่อนแล้วจะนำมาพิจารณาพร้อมกับผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งหากผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนก็จะไม่ได้รับการพิจารณาแม้ว่าจะได้สัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว การดำเนินการนี้ไม่ได้ทำให้ผู้สมัครรายใดเสียประโยชน์หรือไม่โปร่งใสแต่อย่างใด แต่ดำเนินการเพื่อให้กระบวนการสรรหาเดินหน้าได้โดยเร็ว ถ้าคุณสมบัติไม่ผ่าน ต่อให้สัมภาษณ์ไปก็ไม่ผ่านอยู่ดี จึงไม่เข้าใจว่าผู้เสียหายจะกล่าวหาเพื่ออะไร

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเชื่อว่าขบวนการสร้างปัญหาในการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.นี้เกี่ยวโยงกับขบวนการสร้างปัญหาในการสรรหาผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ผ่านมาและเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาล หวังดิสเครดิตรัฐบาลให้งานต่างๆเดินหน้าไม่ได้ ทำให้รัฐบาลไร้ผลงาน เตะถ่วงไปจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ โดยกลุ่มผลประโยชน์นี้มีเครือข่ายแนบแน่นกับกลุ่มการเมืองเดิม ผู้บริหารระดับสูงใน รฟม.และ รฟท.และต่อเชื่อมกับกลุ่มเสนาธิการทหารใกล้ตัวผู้ใหญ่ในรัฐบาลนี้ ตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม.จึงเป็นเดิมพันที่มีผลประโยชน์สูงซึ่งกลุ่มนี้ต้องการให้เป็นคนที่ตนและกลุ่มการเมืองเก่าสั่งการได้

ปัจจุบันงานต่างๆของ รฟม.เป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้คณะกรรมการ รฟม.เพ่งเล็งฝ่ายบริหารของ รฟม.เป็นอย่างมากว่าขาดประสิทธิภาพ โดยโครงการสำคัญที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ได้แก่ งานคัดเลือกเอกชนให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่ง รฟม.และกระทรวงคมนาคมยืนยันให้คณะกรรมการมาตรา 13 พิจารณาคัดเลือกให้เกิดการเดินรถต่อเนื่องกับสายสีน้ำเงินเดิม และเห็นว่าการเจรจากับ BMCL เพื่อเดินรถต่อเนื่องทั้งสายจะเป็นประโยชน์สูงสุด แต่ผู้แทน รฟม.ในคณะกรรมการมาตรา 13 กลับไม่ทำตามนโยบายทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า จนล่าสุดรัฐบาลได้สั่งการให้เร่งรัดพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการซึ่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 50% กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เดินรถต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนแต่ปรากฎว่าผู้บริหาร รฟม.กลับไม่เร่งรัดและสร้างเงื่อนไขต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามหลบหลีกขั้นตอนตาม พรบ.ร่วมลงทุนฯ2556 ทำให้คณะกรรมการ รฟม.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรีซึ่งมีความพร้อมที่จะประกวดราคาแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.ให้ประกวดราคาได้

ทั้งนี้ต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลจะปล่อยให้ รฟม.อยู่ในวัฎจักรของการสร้างปัญหาในองค์กร การฟ้องร้องกันทุกครั้งที่มีการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.อย่างนี้หรือไม่ เพราะผลสุดท้ายคืองานของ รฟม.ซึ่งเป็นงานหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็จะไม่เดินไปด้วย และนั่นคือเป้าหมายสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น