xs
xsm
sm
md
lg

ชิงสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.เดือด “รณชิต” ฟ้อง กก.สรรหาเลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สรรหาฯ ผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่เดือด “รณชิต” ยื่นศาลปกครองกลางและศาลอาญาฟ้องกรรมการสรรหาฯ 4 คน มาตรา 157 เหตุเลือกปฏิบัติ ผิดขั้นตอนประกาศสรรหาฯ ลุ้นคำสั่งศาลคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่ ด้าน “ยอดยุทธ-พงษ์ภาณุ” แท็กทีมเปิดแถลงข่าวโต้ ขั้นตอนสรรหาถูกต้องไม่กีดกันใคร ยันเดินหน้าสัมภาษณ์ 7 ผู้สมัคร เร่งสรุปใน 5 ม.ค. 58


รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ (29 ธันวาคม) นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. จำนวนทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ส่วนกรรมการอีก 3 คน ได้แก่ นายเพิ่มศักดิ์ สัจจะเวทะ, นายสุนทร ทรัพย์ตันติกุล และ พล.ต.พิเชษฐ์ คงศรี โดนฟ้องทั้งศาลอาญาและศาลปกครองกลางกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 โดยระบุความผิดใน 2 ประเด็น คือ กรรมการสรรหาฯ ดำเนินการสรรหาโดยกีดกันและเลือกปฏิบัติที่กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครข้อ 3.1.12 ว่าต้องไม่เป็นผู้รักษาการฯ ผู้ว่าการ รฟม.ในวันยื่นใบสมัคร 2. กระบวนการสรรหาฯ ดำเนินการผิดขั้นตอน ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ จะเชิญผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศแสดงวิสัยทัศน์ กรรมการสรรหาได้รวบรัดให้ผู้สมัครทั้ง 7 คนแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมดโดยไม่ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติก่อน ทั้งนี้ ได้ขอคุ้มครองฉุกเฉินต่อศาลปกครองกลางให้ระงับกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่จะเชิญผู้ผ่านคุณสมบัติมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาในวันที่ 5 มกราคม 2558

ซึ่งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พร้อมด้วยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ว่าการ รฟม.ได้แถลงข่าวด่วนชี้แจงกรณีดังกล่าว โดย พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า การสรรหาฯ ผู้ว่าการ รฟม.เป็นไปตามกระบวนการ ถ้ามีข้อโต้แย้งใดก็ต้องชี้แจงซึ่งศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ จึงจะยังไม่ต้องหยุดกระบวนการสรรหา เพราะมั่นใจว่าเดินตามกฎระเบียบ กฎหมายเป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและองค์กร การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องและมีเหตุผล ไม่มีอคติกับผู้ใด

ซึ่งปัญหาของ รฟม.คือ มี พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะกรณีที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟม.ว่างจะต้องตั้งรองผู้ว่าฯ ที่อาวุโสสูงสุด ซึ่งมีสิทธิ์สมัครสรรหาผู้ว่าฯ ได้ด้วย ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ในขณะที่หน่วยงานอื่นสามารถแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ หรือบอร์ดทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ ได้ ทำให้ขณะนี้บอร์ดจึงได้ตั้งคณะทำงานในการแก้ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ในประเด็นดังกล่าว และรวมถึงประเด็นการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า การบริหารจัดการ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งจะเร่งสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อแก้กฎหมายตามขั้นตอนต่อไป

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 กก.สรรหาฯ ได้มีการพิจารณารายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติผู้สมัคร 7 ราย แต่เนื่องจากที่ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อยืนยันคุณสมบัติแต่ละราย รวม 9 หน่วยงานนั้น ล่าสุดยังตอบยืนยันกลับมาเพียง 6-7 หน่วยทำให้การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง 7 รายยังไม่ครบ ดังนั้น กรรมการสรรหาฯ จึงยังไม่สามารถประกาศชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติได้ และยังไม่มีการตัดสิทธิ์ผู้สมัครทั้ง 7 ราย ในขณะที่ได้กำหนดไว้ให้แสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 5 มกราคม 2558 ไว้แล้ว จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอผลตรวจสอบคุณสมบัติให้แล้วเสร็จก่อน และไม่ถือว่าผิดขั้นตอนแต่อย่างใดเนื่องจากต้องการสรุปผลการสรรหาฯ ให้เร็วที่สุด โดยหลังสัมภาษณ์แล้วเสร็จเย็นวันที่ 5 มกราคม 2558 จะทราบว่าผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนสูงสุด และจะเจรจารายละเอียดสัญญาจ้างและค่าตอบแทน รวมถึงเสนอกระทรวงการคลังเห็นชอบ และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2558

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาคณะกรรมการสรรหาฯ มีการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันผู้สมัครบางท่านนั้น ยืนยันว่าประกาศ รฟม.รับสมัครผู้ว่าฯ รฟม.นั้นในเรื่องคุณสมบัติทั่วไปไม่ได้มีข้อกีดกันใดๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะตัดสิทธิ์ใครไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ส่วนกรณีเป็นรักษาการผู้ว่าฯ ซึ่งได้กำหนดไว้ในข้อ 3.1.12 นั้น ที่ระบุว่าต้องไม่เป็นรักษาการผู้ว่าฯ ในวันยื่นใบสมัครนั้นไม่ได้กีดกันใครทั้งสิ้น เพราะรักษาการผู้ว่าฯ สามารถลาออกจากรักษาการฯ และมาลงสมัครสรรหาฯ ได้โดยไม่ผิดกฎหมายของ รฟม.แต่อย่างใด ซึ่ง พ.ร.บ.รฟม.ในมาตรา 27 ระบุว่าให้รองผู้ว่าฯ รฟม.อาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการผู้ว่าฯ รฟม. ถ้าไม่มีหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้แต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งรักษาการผู้ว่าฯ รฟม.แทนได้

ทั้งนี้ หากมองว่าการสรรหาฯ ผู้ว่าฯ รฟม.ครั้งนี้กำหนดคุณสมบัติกีดกัน ดังนั้น กรณีที่รัฐวิสาหกิจอื่นมีข้อห้ามนักการเมือง, กรรมการบอร์ด ลงสมัครก็ถือว่าทุกรัฐวิสาหกิจกีดกันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งกรรมการสรรหาพร้อมชี้แจง แต่ขณะนี้ยืนยันต้องเดินหน้าการสรรหาตามขั้นตอน โดยวันที่ 5 มกราคม 2558 จะทราบผู้ได้รับการสรรหาฯ

“การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผลดี เพราะจะเป็นการเปิดกว้างในการสรรหาได้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และไม่มีการเอื้อประโยชน์หรือก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด ซึ่งกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาอย่างละเอียดและคำนึงถึงเหตุในอดีตที่เคยมีรักษาการผู้ว่าฯ รฟม.ใช้อำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครรายอื่นที่เป็นคู่แข่ง โดยการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เมื่อรักษาการผู้ว่าฯ ไม่ได้รับการสรรหาจึงมีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงรองผู้ว่าฯ ที่ได้รับคัดเลือกทำให้ต้องล้มการสรรหาครั้งนั้นไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น