xs
xsm
sm
md
lg

เช็กยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ผ่าน 6 เดือนระบบรางยังอืดไม่เข้าเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผยยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมปี 58 วงเงินกว่า 5.5 หมื่นล้าน ผ่าน 6 เดือนลงทุนถนนเกินเป้า...ระบบรางยังอืด เร่งปรับโครงสร้างขนส่งทางบก-ทางอากาศ แยกบทบาทหน้าที่กำกับดูแลออกจากปฏิบัติงาน

จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 8 ปี พ.ศ. 2558-2565 วงเงินรวม 1,912,681.79 ล้านบาท ครอบคลุมการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ, ขนส่งสาธารณะ, ทางหลวงเชื่อมภายในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน, ขนส่งทางน้ำ และขนส่งทางอากาศ ซึ่งแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการภายในปี 2558 วงเงินรวม 55,986.64 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 57-เม.ย. 58) งานด้านขนส่งทางบก (กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท) วงเงิน 21,937.60 ล้านบาท มีความคืบหน้าตามเป้าหมาย โดยทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทสามารถประกวดราคาและลงนามในสัญญาก่อสร้างได้เกือบครบทุกโครงการ เหลือเพียงโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานซึ่งจะเสร็จภายในปีงบประมาณ 58 แน่นอน นอกจากนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทยังมีโครงการเร่งสร้างถนนทั่วประเทศ โดยได้รับงบกลางอีก 40,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะดำเนินการได้ภายในปีนี้เช่นกัน โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้โครงข่ายด้านถนนมีความพร้อมและสมบูรณ์

การขนส่งทางราง วงเงิน 27,000.32 ล้านบาท (รถไฟทางคู่วงเงิน 9,219.49 ล้านบาท รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน วงเงิน 17,780.83 ล้านบาท) ภายในเดือน เม.ย. กระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประกอบด้วย 1. รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท 2. รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 3. รถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 ประกอบด้วย 1. ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 2. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 3. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 4. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 5. ช่วงนครปฐม-หัวหิน

โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 2. รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 3. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาท ซึ่งจะมีการประกวดราคาใหม่หลังจาก ร.ฟ.ท.ต้องปรับราคากลางใหม่หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบนั้นจะเร่งประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยผู้บริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
หรือ ITD ซึ่งเป็น 1 ใน 6 บริษัทผู้รับเหมาได้ยื่นประกวดราคาไว้แล้ว ยืนยันพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลอีกแน่นอน รอ ร.ฟ.ท.ประกาศ TOR ใหม่เท่านั้น ซึ่ง ITD ค่อนข้างมั่นใจว่ามีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนค่าก่อสร้างเนื่องจากแนวเส้นทางก่อสร้างผ่านโรงงานของ ITD

การขนส่งทางน้ำ วงเงิน 2,206.07 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเดินเรือ (กรมเจ้าท่า) อยู่ระหว่างดำเนินการ, โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 1 ในความรับผิดชอบของการท่าเรือแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.

การขนส่งทางอากาศ วงเงิน 4,831.47 ล้านบาท (ไม่รวมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) การขนส่งเพื่อเชื่อมต่อโครงข่าย กทม. และปริมณฑล วงเงิน 11.18 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินโครงการในปี 2558 ได้ตามเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ในปีนี้กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรด้านขนส่งทางบก และทางอากาศ เพื่อแยกบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแล (Regulator) และปฏิบัติการ (Operator) ออกจากกัน โดยการขนส่งทางบกจะต้องมีการแยกงานด้านกำกับดูแล การออกใบอนุญาต
ควบคุมการบริการและกำหนดอัตราค่าโดยสาร ออกจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อให้ 2 หน่วยงานรับผิดชอบในส่วนของการเดินรถอย่างเดียว

ขณะที่ด้านขนส่งทางรางจะมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อแยกบทบาทหน้าที่การกำกับดูแล การก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานออกจาก ร.ฟ.ท. และ รฟม. ซึ่งจะทำหน้าที่ในการให้บริการเดินรถ

ส่วนด้านทางอากาศนั้น จะเร่งปรับโครงสร้างองค์กรกรมการบินพลเรือน (บพ.) แยกงานด้านนโยบาย (Policy) การออกใบอนุญาต การอนุมัติเส้นทาง และนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Sky), งานด้านกำกับดูแล (Regulator) พวกมาตรฐานเครื่องบิน มาตรฐานนักบิน, งานด้านสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน และด้านปฏิบัติการ (Operator) การบริหารสนามบินภูมิภาค 28 แห่งออกจากกัน เพื่อให้เกิดความอิสระ และคานอำนาจในการทำงานตามหลักสากล

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการบินจากกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทยตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP และพบว่าไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns : SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ควรถือเป็นโอกาสและจุดเปลี่ยนในการเร่งรัดการแก้ปัญหาที่ถูกทอดทิ้งมานาน และสร้างความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนให้การขนส่งทางอากาศของไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น