โฆษกรัฐบาลแจงกรณี “ไอซีเอโอ” แจ้งเตือนเรื่องมาตรฐานการบิน ยันไทยยังไม่ได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ วางแผนปรับ “สถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ” องค์กรอิสระเหมือน กสทช. ชูมาตรา 44 ใช้สร้างสรรค์ลดขั้นตอนต่างๆ ลง คาดส่งรายงานทันใน 90 วัน
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในช่วงเดือน เม.ย. 58 จะมีการประชุม ครม. เพียง 3 ครั้ง เนื่องจากมีวันหยุดราชการหลายวัน คือ ในวันที่ 7 เม.ย. วันที่ 21 เม.ย. และวันที่ 28 เม.ย. โดยการประชุม ครม. วันที่ 28 เม.ย. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ จึงได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมแทน
สำหรับกรณีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แจ้งเตือนเรื่องมาตรฐานการบินนั้น พล.ต.สรรเสริญ ชี้แจงว่า ขณะนี้ไทยยังไม่ได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ เพียงแต่มีการแจ้งเตือนข้อบกพร่องมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขตามที่ ICAO ต้องการ และแจ้งมาอีกครั้งวันที่ 2 มี.ค. 58 ว่า ไทยยังแก้ไขไม่ครบถ้วนทันสมัย แต่จะไปโทษทาง ICAO ไม่ได้ เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีการบิน จึงมีความไวต่อการตอบสนองเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของไทยที่ต้องแก้ไข
ทั้งนี้ ในการแก้ไขต้องปรับในหลายรูปแบบ เช่น ICAO ต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านมาตรฐานการบินเป็นหน่วยงานอิสระ จึงมีการวางแผนจะปรับให้เป็นสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระคล้ายกับ กสทช. และมีการตั้งกรมควบคุมการขนส่งทางอากาศเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยเป็นการแยกหน่วยควบคุม กำกับดูแล ออกจากหน่วยปฏิบัติ รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างอัตรากำลังพล
“หากมีการดำเนินการดังกล่าว ตามขั้นตอนดังกล่าวตามปกติ ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ถึง 1 ปีครึ่ง นายกฯ จึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถือเป็นการใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ เพื่อลดขั้นตอนต่างๆ ลง ซึ่งไทยมีระยะเวลา 90 วันที่ต้องรายงานส่งให้ ICAO อีกครั้ง หากผ่านมาตรฐานได้ สิ่งต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลจะหมดไป แต่หากไม่ผ่านจะถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลง ส่งผลต่อเที่ยวบินต่างๆ จำนวนมาก” พล.ต.สรรเสริญ ระบุ